ทางเลือกเพื่ออนาคต (จบ)

ทางเลือกเพื่ออนาคต (จบ)

ต้องคิดถึงการถอยเอาไว้บ้างแม้ว่าหนทางข้างหน้าจะสดใส

การตัดสินใจครั้งใหญ่สำหรับคนทำงานยุคนี้คงหนีไม่พ้นทางเลือกในการทำงานกับองค์กรเดิมที่มั่นคงหรือจะไปบุกเบิกธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนสูง แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีความคล่องตัวในการรับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจได้สูงกว่า

ปัจจัยในการตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับมุมมองและการคิดพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งผมได้เกริ่นนำไปแล้ว 5 ข้อ ในสัปดาห์ก่อน ต่อกันในข้อที่หกคือ พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ได้หวือหวาเหมือนที่เคยอ่านในสื่อออนไลน์ต่างๆ หรือเป็นงานที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มานับสิบนับร้อยปี

ผมเชื่อว่างานใดๆ ก็ตามก็สามารถหาแง่มุมให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เสมอ ขอเพียงแต่เรามีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ตัวเองอย่างถ่องแท้ และเรียนรู้เพื่อหาทางทำให้มีพัฒนาการในอาชีพนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

ข้อที่เจ็ด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ หรือเลือกไปบุกเบิกในธุรกิจสตาร์ทอัพการ “ลงมือทำ” ก็ยังถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งเสมอ แต่ในทุกวันนี้การลงมือทำแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะต้องอาศัยการทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดด้วย

การหย่อนมาตรฐานในการทำงานลงสัก 1-2 % อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่หาก 1-2% นั้นทำให้บริษัทได้คะแนน 49 จาก 100 คะแนน แทนที่จะเป็น 51 ที่ถือว่าผ่านการประเมินผล 2 คะแนนที่เสียไปจึงกลายเป็นตัวชี้ขาดอนาคตขององค์กรทันที การคงระดับการทำงานให้มีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

แต่การรักษาระดับให้ได้คงที่ตลอดเวลาก็ต้องอาศัยความทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง ซึ่งสิ่งที่ได้ไม่ใช่เพียงผลงานของบริษัทแต่เป็นสิ่งที่จะได้ติดตัวไปตลอดชีวิต นั่นคือวินัยและมาตรฐานในการทำงานที่คงเส้นคงวา เอื้อให้ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ข้อที่แปด การบุกเบิกธุรกิจใหม่โดยเฉพาะสตาร์ทอัพจำเป็นต้องคิดถึง “การถอย” เอาไว้บ้างแม้ว่าหนทางข้างหน้าจะสดใสเพียงใด เพราะการหาทางถอยเป็นการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และเป็นการหาทางหนีทีไล่ให้กับตัวเอง

ระหว่างที่เรากำลังทำธุรกิจใหม่อย่างเต็มที่ คู่แข่งก็อาจซุ่มทำสิ่งเดียวกันอยู่ ซึ่งเขาอาจทุ่มเทมากกว่า ขยันมากกว่า หรือตั้งใจทำมากกว่า ทำให้งานของเราอาจไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เราจึงต้องคอยประเมินอยู่เสมอว่าหากจะเป็นต้องถอย จะถอยได้ที่จุดใดที่ทำให้ยังมีกำลังพอที่จะก้าวต่อไป

เพราะบางครั้งการฝืนทำต่อเพราะมองเห็นโอกาสที่จะทำสำเร็จแซงหน้าคู่แข่งได้ และประเมินแล้วว่าหากพลาดก็ยังได้ประสบการณ์กลับมาเป็นต้นทุน ประจวบกับยังเหลือทรัพยากรมากพอสำหรับสู้ต่อก็อาจตะลุยต่อไปได้ แต่หากไม่ใช่ก็ต้องคิดหาทางถอยที่เจ็บตัวน้อยที่สุด

ความเสียหายที่แย่ที่สุดไม่ได้มาจากการต้องยอมยกธงขาวต่อคู่แข่ง แต่เป็นการถอยโดยจำใจและไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวใดๆ จากความผิดพลาดที่เพิ่งเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าเรามีโอกาสทำพลาดแบบเดิมอีกในอนาคตก็เป็นไปได้

ข้อที่เก้า อย่าทำงานเพียงตามขั้นตอนที่เคยทำมา ต้องคิดถึงการเรียนรู้ขั้นตอนใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย แม้ว่าการทำในสิ่งที่รู้และเชี่ยวชาญดีอยู่แล้วไม่มีความเสี่ยงใด ๆ แต่เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ใด ๆ เพิ่มเติมเลย ตรงกันข้ามกับการที่เรารู้จักเรียนรู้และปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ดีขึ้นเสมอ งานที่เราทำได้จึงดีกว่าที่ลูกค้าคาดหวังเอาไว้ ผลตอบแทนที่ได้จึงคุ้มค่าต่อการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน

ข้อที่สิบ หากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ขึ้นจนงานเสียหายไปจนถึงขั้นล้มเหลว เราก็ต้องรู้จักวิธี “รีสตาร์ท” ตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมก้าวเดินต่อไป แม้จะเสียใจและผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ยาแก้เสียใจนั้นไม่มีขาย เราจึงต้องหาทางชำระจิตใจให้แข็งแรง และพร้อมก้าวเดินต่อไปอย่างเร็วที่สุด