เมื่อ p2p lending อยู่ภายใต้การกำกับ

เมื่อ p2p lending อยู่ภายใต้การกำกับ

ฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจระบบ

 หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (p2plending platform)ที่พึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561

ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ p2p lending platform จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

 p2p lending platform คืออะไร

Peer-to-Peer lending platform คือ การกู้ยืม/ให้สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดย ไม่ผ่านระบบธนาคารอย่างเช่นการกู้ยืมในรูปแบบเดิม (Traditional loan)ดังนั้น p2p lending platform จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการให้บริการจับคู่ระหว่างผู้ให้กู้/ผู้กู้

ในทางกฎหมาย การให้สินเชื่อผ่านplatformถือเป็นการเกิดขึ้นของสัญญากู้ยืมหรือสัญญาการให้สินเชื่อระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้โดยตรง ซึ่งplatformไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีหน้าที่เพียงกำหนดกระบวนการและจัดให้มีการทำสัญญาระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น

ผู้ประกอบธุรกิจp2p lending platform” คือใคร?

คือ ผู้ให้บริการธุรกรรมสินเชื่อโดยการให้บริการจับคู่ (Matchmaker) ระหว่างผู้ให้กู้/ผู้กู้ โดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเจอกัน แต่บุคคลทั้ง 2 สามารถทำสัญญาระหว่างกันได้แบบออนไลน์ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Website หรือ Application ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบธุรกิจ platform ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ platform มีหน้าที่เพียงจับคู่ในลักษณะการนำเสนอช่องทางหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกู้ยืม โดยห้ามไม่ให้ platform เป็นผู้ให้กู้หรือผู้กู้เสียเอง

ในส่วนการขออนุญาต ผู้ประสงค์จะให้บริการ platform จะต้องเป็นนิติบุคคลไทย (บริษัทจำกัดหรือบริษัทจำกัดมหาชน) และต้องไม่ใช่สถาบันการเงิน (เช่น ธนาคารพาณิชย์) หรืออีกนัย ประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับNon-bankนั่นเอง เพราะสถาบันการเงินสามารถทำ p2p platform ได้อยู่แล้วตามใบอนุญาตที่ได้รับจึงไม่ต้องมาขออนุญาตกระทรวงการคลังตามประกาศฉบับนี้อีก

Platform ต้องเข้า Sandboxหรือไม่?

เพื่อความยืดหยุ่นในการกำกับดูแล กฎหมายกำหนดว่า ธปท. อาจกำหนดให้ผู้ยื่นขออนุญาตเข้าทดสอบใน Sandbox ก็ได้ นั้นแปลว่า กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ยื่นขออนุญาตทุกรายต้องเข้าทดสอบในSandbox หากแต่ในเชิงนโยบายให้เป็นอำนาจในการพิจารณาของ ธปท.

ซึ่งในเบื้องต้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและตรวจสอบความเหมาะสมของ lending Model ธปท. จึงประสงค์ให้ platform เข้าทดสอบใน Sandbox ก่อนยื่นเสนอใบอนุญาตกับกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของใบอนุญาตที่จะได้รับนั้น มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจ platform จะต้องยื่นต่ออายุภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย

ใครเป็น “ผู้ให้กู้และผู้กู้ผ่านplatform”ได้บ้าง?

กฎหมายกำหนดไว้ต่างกัน ในส่วนของ “ผู้ให้กู้” จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (การระดมทุนผ่าน Crowd funding portal)ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ว่าด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์

ในขณะที่ “ผู้กู้” กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดและคุณสมบัติของผู้ให้กู้/ผู้กู้ เช่น การกำหนดเพดานวงเงินการให้สินเชื่อ ธปท. จะประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

ดอกเบี้ย และ ค่าธรรมเนียม คิดอย่างไร?

สำหรับ “ดอกเบี้ย” ระหว่างผู้ให้กู้/ผู้กู้ จะต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐาน ว่าด้วยการกู้ยืมตามกฎหมายแพ่งที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% ต่อปี และในส่วนของ “ค่าธรรมเนียม” ที่ platform จะเรียกเก็บจากการ Matching นั้น ประกาศกระทรวงการคลังไม่ได้ระบุอัตราไว้ แต่ได้กำหนดหลักการที่สำคัญว่า การคิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นใด platform จะต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านเครือข่ายหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการเสมอ 

ประโยชน์และทิศทางธุรกิจ p2p lending platform ในไทย

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรดาเท่านั้น ดังนั้น ประโยชน์ที่เด่นชัดของ p2p lending platform ภายใต้บริบทของกฎหมายไทย คือ การใช้เทคโนโลยีทางการเงินเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้กู้รายย่อยด้วยอัตราต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจาก platform มักจะมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ในส่วนของผู้ให้กู้ (ในฐานะที่เป็น investor) p2p lending platform จะเปิดโอกาสในการลงทุนทั้งในสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (Consumer credit) และนำเสนอการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใหม่ๆ อันอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในตลาดก็เป็นได้

ในส่วนของ Platform เนื่องจากประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้ บังคับใช้กับกลุ่มธุรกิจ Non-bank จึงเป็นไปได้ว่ารูปแบบการให้บริการ FinTech Lending ในประเทศไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้น และอาจมีผู้ให้บริการ E-commerce platform สนใจให้บริการ p2p lending platform ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลร้านค้าและผู้ใช้บริการเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้การทำ Data Analytics เพื่อคำนวน Credit Rating/Score ไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ธุรกิจ p2p lending เป็นธุรกิจในกลุ่ม FinTech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากประเภทหนึ่ง และจำนวนไม่น้อยที่ก้าวเข้าสู่การเป็น FinTech Unicorn หรือ ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญดอลลาร์ (เช่น Funding circle ของอังกฤษ และ Lu.com ของจีน)

ดังนั้น นโยบายในการกำกับดูแล p2p lending platform จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ประเภทนี้ เพราะหากการบริหารจัดการของ platform ขาดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ย่อมนำไปสู่การทุจริตได้โดยง่ายและอาจกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง อย่างเช่นกรณีฉ้อโกงที่เคยเกิดขึ้นกับ platform ในประเทศจีน (กรณีของ บ.Ezubao) สาเหตุหลักมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อ platform มีหน้าที่ในการจับคู่ ย่อมเท่ากับว่ามีเพียงแค่ platform ที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลและรู้ว่าใครเป็นใครในการจัดทำสัญญากู้ยืมแต่ละฉบับ

ท้ายที่สุด ประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้รวมถึงเกณฑ์การกำกับดูแลที่ ธปท. จะประกาศกำหนดเพิ่มเติมในอนาคตจะเป็นการสร้างกระบวนการและระบบงานที่ปลอดภัยในการให้บริการของ platform และเปิดโอกาสให้ธุรกิจ p2p lending ในประเทศไทยมีความหลากหลาย อันเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในภาคการเงินในมิติต่างๆ ต่อไปในอนาคต

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]