นวัตกรรมไม่ยาก แค่คิดแล้วลงมือทำ

นวัตกรรมไม่ยาก แค่คิดแล้วลงมือทำ

นวัตกรรม เป็นทั้งปัจจัยนำเข้า (input) หมายถึงแนวคิดใหม่ แตกต่างไปจากเดิม โดยคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางหรือแนวโน้มของโลก

ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการปรับปรุงแบบก้าวกระโดดหรือลดผลกระทบในเชิงลบจากสินค้าและบริการเดิมๆที่มีอยู่ในทุกวัน (paint point)

นวัตกรรมยังมีความหมายถึงกระบวนการ (process) ภายในองค์กร ซึ่งผู้บริหารมักจะสื่อสารและบอกกล่าวกับพนักงานทุกคนว่า เราจะไม่หยุดอยู่ที่การ “ทำซ้ำ” ในรูปแบบเดิมๆ โดยมีการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) เพียงเพื่อให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หากแต่เราต้อง “ทำใหม่” เพราะโลกหมุนเร็ว อุตสาหกรรมที่เรากำลังดำเนินธุรกิจอยู่นั้น เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ กระบวนการและวิถีการทำงานในแบบเดิม แม้ว่าจะมีการค่อยๆปรับปรุงเป็นลำดับแล้วก็ตาม แต่ก็ยังอาจก้าวไม่ทันกับการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม ที่ใครหลายคนกล่าวว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ 4.0 ซึ่งไม่เพียงแค่มีความเป็นอัตโนมัติในเชิงกายภาพเท่านั้น หากแต่มีความชาญฉลาด (intelligence) ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ และสังเคราะห์สารสนเทศนั้นให้เข้ากับสถานการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมจนกลายเป็นปัญญาอีกด้วย

นวัตกรรมยังไม่ได้เป็นแค่เพียงแนวคิดใหม่ หรือกระบวนการใหม่เท่านั้น หากแต่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ (new result) ซึ่งไม่ได้ให้คุณค่าแค่เพียงคุณสมบัติและความสามารถที่ดีขึ้นในเชิง Function หากแต่ยังมีรูปลักษณ์ การออกแบบที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ในเชิง Fashion และสุดท้ายคือนวัตกรรมได้สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แบบที่ไม่เคยพบเห็น หรือเคยประสบพบเจอมาก่อน เป็นความก้าวล้ำนำหน้าในเชิง Future ดังนั้นนวัตกรรมจึงมีมิติที่หลากหลาย และกำเนิดเกิดขึ้นมาได้จากหลายวิธีการ

 ในอดีตเราอาจจะคุ้นเคยหรือคิดว่า นวัตกรรม ต้องมาจากห้องปฏิบัติ (Research Lab) โดยนักวิจัย นักค้นคว้า นักประดิษฐ์ ที่ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ลึกซึ้ง หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ในความเป็นจริง นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ทั่วไป เพียงแค่เรามีความคิดริเริ่มใหม่ๆ (initiative) โดยปฏิเสธสิ่งเดิมที่คุ้นชิน แล้วแสวงหาสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าและตลาดในเชิงธุรกิจ หรือแก้ปัญหาชุมชน ความยากไร้ ความไม่เท่าเทียมกันในเชิงสังคม ดังนั้นนวัตกรรมอาจไม่จำเป็นต้องไปคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ แค่ทำความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว มาผสมผสานกับแนวคิดที่ก้าวกระโดด

ยกตัวอย่าง เราคงพอทราบดีอยู่แล้วว่าคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่นั้น ก็มีวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ จากเครื่องขนาดใหญ่เท่าห้อง จนมาเหลือเครื่องขนาดตั้งโต๊ะ และกลายเป็นเครื่องขนาดเล็กวางบนตักและพกพาไปไหนต่อไหนได้ จนความสามารถของมันได้เข้าไปผนวกอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น smart phone ที่เรามีใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แผงวงจรที่เป็นสมองกลทำหน้าที่เป็นหน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit – CPU) นั้น คงไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่มีอุปกรณ์ต่อเชื่อมที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกโดยเฉพาะมนุษย์ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวใช้สัญญาณไฟในการส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน คอมพิวเตอร์ขนาด 8 บิตในยุคแรก จะสื่อสารด้วยสายไฟ 8 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นจะมีอยู่สองสถานะคือมีไฟ (เป็น 1 หรือ High) และไม่มีไฟ (เป็น 0 หรือ Low) ในการส่งข้อมูลพร้อมกันในหนึ่งจังหวะ สถานะของสายไฟแต่ละเส้นจึงมีความหมายที่แตกต่างกัน เช่น (01001000) (10011000) (11000010) (10110111)

 เมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นคีย์บอร์ด เพื่อที่จะให้ผู้ใช้ (user) สามารถสื่อสารภาษาคน ให้ CPU รับรู้ได้ จึงนำรหัส 8 ตัวดังกล่าว มากำหนดแทนตัวอักษรที่แตกต่างกัน เรียกว่า แอสกี้โค้ด (ASCII) และเพื่อให้จอภาพสามารถแสดงผลได้ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้คีย์เข้ามา CPU ก็จะประมวลผลและส่งไปยังจอภาพตามรหัสที่ได้รับ ซึ่งก็เป็นในลักษณะเดียวกันนี้เรื่อยมา จนกระทั่งคอมพิวเตอร์รุ่นหลังมีขีดความสามารถมากกว่าเดิมคือเป็นเครื่อง 16 บิต 32 บิต หรือ 64 บิต ทำให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิผลมากขึ้น

 จากแนวคิดดังกล่าวเมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคหลัง เช่น การสื่อสารไร้สาย (wireless) ทำให้คียบอร์ดคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ไม่ต้องเสียบสายเข้ากับ CPU ก็สามารถพิมพงานได้ ทำให้เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ สามารถพิมพ์เอกสารได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อสายกับคอมพิวเตอร์ และทำให้เครื่องฉายภาพข้ามศรีษะหรือ Projector ที่เราใช้ในการนำเสนองานหรือการบรรยายของวิทยากรต่างๆ ไม่ต้องเชื่อมต่อสายให้วุ่นวาย ในการประชุมขององค์กรต่างๆ ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำภาพจากจอคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ขึ้นแสดงผลบนจอใหญ่ได้ โดยไม่ต้องสลับสายต่อเชื่อมกับโปรเจคเตอร์ไปมา นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อีกมากมายในชีวิตประจำวันเราตอนนี้ที่เป็นแบบไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง ไมโครโฟน ลำโพง และอีกสารพัดอุปกรณ์ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า IoT (Internet of Thing) นั่นคือเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสื่อสารได้ไกลมากกว่าการสื่อสารไร้สายของอุปกรณ์ทั่วไปที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ก็ยังสามารถตรวจติดตาม สั่งการสิ่งต่างๆได้

นี่คือการรู้จักนำแนวคิดใหม่ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าใหม่ แม้แต่งานด้านสังคมที่มีนักพัฒนาได้สร้างคียบอร์ดอักษรเบลล์เพื่อให้คนตาบอดสามารถสื่อสารแบบไร้สาย โดยทำงานร่วมกับ smart phone เราอาจไม่เชื่อว่าคนที่เรากำลังคุยออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Line WhatsApp หรือ Messenger เป็นคนตาบอด

ดังนั้นนวัตกรรมไม่ได้ยาก แค่คิดแล้วลงมือทำ