อะไรเกิดขึ้นเมื่อสงครามการค้ายืดเยื้อ

อะไรเกิดขึ้นเมื่อสงครามการค้ายืดเยื้อ

ท่าทีล่าสุดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ดูจะไม่จบง่าย จากวันจันทร์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกระลอก

และจีนก็ตอบโต้ทันทีด้วยมาตรการลักษณะเดียวกัน รวมถึงยกเลิกการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่อาจเป็นช่องทางหาข้อยุติในปัญหาที่เกิดขึ้น ชี้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคงยืดเยื้อ จึงมีคำถามว่าแล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้ายืดเยื้อ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกและไทย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้ 

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เริ่มต้นเดือน มี.ค.ปีนี้ และได้รุนแรงขึ้นเป็นลำดับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้งในอัตรา 10% โดยมีสินค้าเกี่ยวข้อง 5,745 รายการ คิดเป็นวงเงินเกือบ 2 แสนล้านดอลล่าร์ และถ้าจีนมีการตอบโต้ (ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ไปแล้ว) สหรัฐก็จะเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวเป็น 25% ตอนสิ้นปีนี้ รวมถึงขยายจำนวนสินค้าที่จะถูกขึ้นภาษีเพิ่มอีกในวงเงิน 267 พันล้านดอลล่าร์ ทำให้สินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกกีดกันโดยอัตราภาษีพิเศษของสหรัฐ รวมแล้วจะประมาณ 505 พันล้านดอลล่าร์ เท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมดที่จีนส่งไปสหรัฐปีที่แล้ว 

สหรัฐเป็นผู้เริ่มทำสงครามการค้ากับจีน เพราะต้องการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่สูงที่สหรัฐมีกับจีน ที่สหรัฐเชื่อว่าเกิดจากวิธีการค้าขายของจีนที่ไม่ยุติธรรม ที่จีนอาจออกกฎระเบียบ ทำให้บริษัทสหรัฐในจีนเสียเปรียบหรือต้องยอมเปิดเผยข้อมูลการค้าที่เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาให้กับจีน ที่สำคัญ สหรัฐมองว่าจีนได้เติบใหญ่จนกลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ การแก้การขาดดุลการค้าก็คือ การแก้ความเสียเปรียบที่สหรัฐมีกับจีนเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถแข่งขันกับจีนได้ ทำให้สงครามการค้า จึงไม่ใช่เพียงการลดตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีน แต่หมายถึงการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในแง่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 

และที่สงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อ ก็เพราะสหรัฐพร้อมที่จะให้สงครามนี้ยืดเยื้อ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ เนื่องจากโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐพึ่งการส่งออกหรือภาคต่างประเทศน้อย การนำเข้าสินค้าจากจีนปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 17% ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐทั้งหมด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากการเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อก็น้อยมาก คือ เพียง 0.03% ในแง่อัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ สหรัฐก็สามารถเลือกขึ้นภาษีเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีนที่ไม่ได้เป็นสินค้าที่สำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งในแง่วัตถุดิบและผลที่จะมีต่อผู้บริโภค เหล่านี้ทำให้สหรัฐมองว่าตนอยู่ในฐานะได้เปรียบ สามารถยืนระยะได้ ถ้าสงครามการค้ายืดเยื้อ

กรณีจีน การยืดเยื้อของสงครามการค้ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากกว่า เพราะจีนเป็นประเทศที่พึ่งการค้าระหว่างประเทศในการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ที่ผ่านมา 6 เดือน สงครามการค้าเริ่มมีผลต่อจีน ทั้งในแง่อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่จีนก็เชื่อมั่นว่าตนสามารถบริหารจัดการผลกระทบเหล่านี้ได้โดยใช้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการส่งออกที่ชะลอลง จากมาตรการภาษีของสหรัฐ ใช้เหตุใช้ผลแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศจีนกำลังถูกคุกคามโดยสหรัฐที่ไม่ยึดกฎระเบียบสากลของการค้าโลก ที่ทำลายความเป็นเสรีของการค้าระหว่างประเทศ ที่สำคัญ จีนพร้อมจะรอให้การเมืองสหรัฐเปลี่ยนเพราะวันหนึ่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ต้องหมดอำนาจลง ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐกลับไปสู่ความเป็นเสรีนิยมเหมือนเดิม 

เหตุผลเหล่านี้ ทำให้โอกาสที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะยืดเยื้อมีสูง นายแจ๊ค หม่า ประธานบริหารบริษัทอาลีบาบาของจีนได้ให้ความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจยืดเยื้อเป็น 20 ปี เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องความเป็นประเทศมหาอำนาจ ไม่ใช่ข้อพิพาททางการค้า คำถามคือ ถ้ายืดเยื้อแบบนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร รวมถึงผลที่จะมีต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย 

ในความเห็นผม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ถ้าสงครามการค้ายืดเยื้อ คงมี 3 ประเด็นที่ต้องตระหนัก 

 1.) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคงถูกกระทบแน่นอน เพราะการค้าโลกจะชะลอตัวจากที่ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก 2 ประเทศ คือ สหรัฐกับจีนไม่ค้าขายกัน ทำให้อัตราการเติบโตของการค้าโลกจะลดลง นำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องนี้ ล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียปีหน้าลงเหลือ 5.9% อ้างผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งจะกระทบถึงการส่งออกของไทย 

2.) การไม่ค้าขายกันระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้พฤติกรรมการทำธุรกิจระหว่างประเทศของภาคเอกชนทั่วโลกต้องปรับตัว ที่เห็นแล้วก็คือ มีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างประเทศที่ผลิตในจีน ไปประเทศอื่นเช่น สหรัฐ อินเดีย ไต้หวัน และประเทศในอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การส่งออกสินค้าของตนไปสหรัฐถูกกระทบโดยมาตรการภาษี ทำให้ประเทศอย่างไทยจะได้ประโยชน์ ถ้าบริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ในแง่ห่วงโซ่การผลิต บริษัทต่างๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้ห่วงโซ่การผลิตในจีน หันมาซื้อสินค้าขั้นกลางนอกประเทศจีนแทน เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่บริษัทที่เป็นคู่แข่งกับบริษัทจีนในการขายสินค้าไปสหรัฐก็จะได้ประโยชน์ เพราะภาระภาษีจะทำให้สินค้าของบริษัทเหล่านี้จะสามารถแข่งขันกับจีนได้ ในทำนองเดียวกันจีนก็จะไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทสหรัฐ ทำให้บริษัทที่เป็นคู่แข่งกับบริษัทสหรัฐจะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปจีน เหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและความสูญเสีย

3.) การค้าโลกในแง่ความร่วมมือทางการค้า จะถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งนำโดยสหรัฐ อีกขั้วหนึ่งนำโดยจีน ทำให้ประเทศในโลกจะวางตัวลำบากว่าจะเข้าขั้วไหน เพราะการเข้าทั้ง 2 ขั้ว ในทางการเมืองจะทำได้ยาก เพราะเป็นการแข่งขันความเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความสำคัญของเขตการค้าเสรีในระดับภูมิภาค ที่ไม่มีทั้งจีนและสหรัฐ จะกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของการค้าในระดับภูมิภาค กรณีของไทย เขตการค้าเสรีอาเซียนก็สามารถกลับมามีบทบาทได้อีก ที่จะใช้ศักยภาพของ 10 ประเทศอาเซียนในภูมิภาคขับเคลื่อนการเติบโตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไม่มีอิทธิพลของทั้งจีนและสหรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว 

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คงเกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารนโยบายของประเทศจะต้องมองยาวและคิดเรื่องเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ