เศรษฐกิจเกิดใหม่ไหนอันตรายกว่ากัน?

เศรษฐกิจเกิดใหม่ไหนอันตรายกว่ากัน?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกระแสตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจเกิดใหม่และพากันนำเงินทุนออกจากประเทศเหล่านั้น โดยที่อาจจะไม่ได้พิจารณาว่า

ประเทศไหนอันตรายกว่ากัน ต่อมาวงการค้าเงินมีการจัดอันดับว่าประเทศไหนน่ากลัวกว่า แต่อาจจะไม่ได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังของสิ่งที่พิจารณาในการจัดอันดับนั้นๆ 

ตามปกติแล้วสิ่งที่น่ากลัวสำหรับนักลงทุนคือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในทางที่ด้อยค่าเมื่อเทียบกับเงินตราที่นำไปลงทุน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับค่าเงินดอลลาร์ไม่มากก็น้อย ลำดับถัดไปคือ อัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศจะเกี่ยวข้องกับปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ประเทศนั้นๆ จะได้มาหรือเสียไป วิถีทางในการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศที่ดีที่สุด คือ จากการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศโดยที่ขายมากกว่าซื้อแล้วมีเงินตราต่างประเทศเหลือ แม้ว่าการค้าจะต้องพึ่งพาประเทศอื่นก็จริง แต่เงินที่ได้มาไม่ต้องคืน นี่คือประเด็น วิถีทางที่จะได้เงินตราต่างประเทศมาอีกทางหนึ่ง คือ การใช้เงินตราของประเทศอื่นเป็นการชั่วคราวไม่ว่าจะเป็น (1) เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (2) เงินลงทุนในตราสารจากต่างประเทศ และ (3) เงินกู้ยืม/หนี้สินในรูปแบบอื่น ๆ จากประเทศอื่น โดยหลักการแล้ว เงินตราที่นำมาใช้ชั่วคราวจะมีระยะเวลาที่คงอยู่ในประเทศได้เป็นเวลานานจากมากไปน้อย เรียงตามลำดับมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม การใช้เงินตราต่างประเทศของประเทศอื่นมากถือเป็นความเสี่ยงของประเทศนั้น ๆ ที่เจ้าของจะเรียกเงินนั้นกลับไปได้ทุกเมื่อโดยเฉพาะประเภทที่ 2 และ 3 

บทความนี้ ใช้ข้อมูลบัญชีชำระเงินระหว่างประเทศของ IMF โดยแบ่งตามประเภทใหญ่ๆ ตั้งแต่เงินตราต่างประเทศที่ได้จากการค้าระหว่างประเทศด้านสินค้าและบริการ และ ที่ได้จากการใช้เงินตราต่างประเทศของประเทศอื่นๆ โดยแต่ละรายการจะเป็นผลรวมของรายการนั้นๆ ใน 10 ปี แต่การให้คะแนนแต่ละประเทศจะแบ่งเป็นการให้คะแนนแยกเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุน ประเทศที่ปริมาณเงินตราต่างประเทศใกล้เคียงกันจะได้คะแนนเท่ากันเป็นกลุ่ม ๆ ประเทศไหนที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกมากจะได้คะแนนมากและลบมากจะได้คะแนนติดลบมาก ในส่วนของดุลบัญชีเงินทุน ประเทศไหนติดลบมากแปลว่าพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากจะได้คะแนนติดลบมากและจะได้คะแนนบวกมากเมื่อดุลบัญชีเงินทุนเป็นบวกมากคือมีเงินเหลือไปทำการลงทุนในประเทศอื่น ผลที่ได้แสดงไว้ตามตารางที่ 1 หลังจากนั้นจะรวมคะแนนที่ได้ทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกัน เป็นคะแนนโดยรวมของประเทศนั้นๆ ประเทศที่ได้คะแนนมากแปลว่าพึ่งพาต่างประเทศและมีความเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนประเทศที่ติดลบมากแปลว่ามีความเสี่ยงมาก 

เศรษฐกิจเกิดใหม่ไหนอันตรายกว่ากัน?

ประเทศที่มีความเสี่ยงที่น้อยที่สุดคือไทยและมาเลเซีย ได้ 2 คะแนน ทั้ง 2 ประเทศมีความสามารถในการหาเงินตราจากการค้าระหว่างประเทศมาก แต่ก็ทำการลงทุนในต่างประเทศมากเช่นเดียวกัน แม้ว่าความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศต่ำ แต่การลงทุนในต่างประเทศก็คือการส่งออก “GDP” ให้ประเทศอื่น ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตค่อย ๆ ลดลงด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเกิดขึ้นแล้วคือจีนกับญี่ปุ่น 

ประเทศถัดมาก็คือ ฟิลิปปินส์ คะแนนห่างลงไป 2 คะแนน สถานะของประเทศนี้คือ แม้ว่าประเทศนี้มีการค้าระหว่างประเทศที่ขาดดุลมาก แต่ก็มีรายได้จากแรงงานที่ไปขายบริการในต่างประเทศมาหักล้างได้มากเกินพอ ส่วนในเรื่องของเงินทุนแม้จะต้องพึ่งพาต่างประเทศแต่ก็ไม่มากเท่าไร เวียดนามเป็นประเทศที่มีลำดับความเสี่ยงถัดไป โดยมี -1 คะแนน เนื่องจากขาดความสามารถทำการค้าระหว่างประเทศให้ได้ดุลเป็นบวกอย่างชัดเจน และ ยังต้องพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศมากกว่าด้วย 

อาร์เจนตินาและอินโดนีเซียเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าในลำดับถัดไป เนื่องจากไปขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากค่าตอบแทนการใช้เงินทุนที่มีปริมาณมากและมีมาเป็นเวลานาน โดยมีคะแนน -2 และ -3 ตามลำดับ เพียงแต่อินโดนีเซียมีการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศมากกว่า 

อินเดียและตุรกีเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในระดับเท่า ๆ กัน โดยมีสาเหตุมาจากการขาดดุลทั้งการค้าและรายได้ อีกทั้งการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศที่มหาศาล 

โปรดสังเกตว่าการประเมินความเสี่ยงประเทศต่างๆ ข้างต้นอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ แต่ว่านักค้าเงินระหว่างประเทศไม่ได้มีความรู้ทางวิชาการมากนักและพยายามประเมินประเทศต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่อาจไม่ครบถ้วนปนเปกับความเห็นส่วนบุคคล แล้วทำการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามความเห็นของตนที่ก็มักไปกันเป็นกลุ่ม 

ผู้ใดที่ติดตามข่าวน่าจะพอเห็นได้ว่า ประเทศที่ได้คะแนนตั้งแต่ -2 ลงไป จะเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดวิกฤติภาคการเงินจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนจนเกิดความรุนแรง ส่วนประเทศที่คะแนนสูงกว่านั้นอาจจะประสบปัญหาบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรง 

แม้ว่า การประเมินความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศของประเทศอาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่นักค้าเงินใช้ แต่ก็เป็นตัวชี้บอกพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศของประเทศหนึ่ง ๆ ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มาจากปัจจัยพื้นฐานเป็นระยะเวลายาวนานที่ตัดผลกระทบของ random factors ต่าง ๆ ได้ดี