การเก็บเกี่ยวภูเขาน้ำแข็งกับการแย่งชิงที่ดิน

การเก็บเกี่ยวภูเขาน้ำแข็งกับการแย่งชิงที่ดิน

ท่ามกลางการประโคมข่าวเกี่ยวกับพายุใหญ่ ซึ่งทำให้น้ำท่วมจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวงในช่วงนี้ คงยากที่จะจินตนาการว่า บางส่วนของโลก

กำลังขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤติ บางเมืองต้องใช้มาตรการจำกัดปริมาณการใช้น้ำสำหรับชำระร่างกาย หรือรดต้นไม้และสนามหญ้า เมื่อไม่นานมานี้ ชาวเมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ ประสบปัญหาสาหัสมากเนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห้งเหือด แต่โชคดีที่ฝนมาทันเวลา หากฝนมาช้ากว่านั้นอีกไม่กี่วัน การฆ่าแกงเพราะแย่งชิงน้ำกันอาจเกิดขึ้น

วิกฤติที่เคปทาวน์เป็นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำเตือนไว้นานแล้ว การขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาสาหัสถึงกับอาจทำให้เกิดสงคราม ในปัจจุบัน ชาวโลกพยายามแก้ปัญหาด้วยสารพัดวิธีรวมทั้งการเก็บเกี่ยวฝนและน้ำค้าง ตัวอย่างของการแย่งชิงน้ำกันและการแก้ปัญหามีอยู่ในหนังสือเรื่อง “ธาตุ 4 พิโรธ” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com

การเก็บเกี่ยวฝนเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ซึ่งใช้แก้ความขาดแคลนได้ในระดับหนึ่งเมื่อประชากรโลกยังน้อยและแต่ละคนดำเนินชีวิตในแนวที่ใช้น้ำน้อยกว่าในปัจจุบัน ฉะนั้น สังคมที่ขาดแคลนแสนสาหัสจะต้องหาทางอื่นโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตที่ไม่มีฝนจะให้เก็บเกี่ยวมากนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้รื้อฟื้นเรื่องการเก็บเกี่ยวน้ำแข็งจากขั้วโลกขึ้นมาอีก

ย่านขั้วโลกหนาวจัดจนพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นน้ำแข็งตลอดปี แม้พื้นน้ำแข็งนี้จะเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่คล้ายผืนแผ่นดินหนานับพันเมตร แต่ความแปรปรวนของภูมิอากาศทำให้บางส่วนแตกออกเป็นก้อนขนาดใหญ่คล้ายภูเขาลอยอยู่กลางทะเล ภูเขาเหล่านี้เป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อแท่นเจาะน้ำมันและการเดินเรือ การอับปางของเรือโดยสารขนาดยักษ์ชื่อ “ไทแทนนิค” เป็นตัวอย่างที่ยังอ้างถึงกันอยู่แม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม แทนที่จะปล่อยให้ก้อนน้ำแข็งขนาดภูเขาเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตราย หรือละลายกลายเป็นน้ำจืดปนไปกับน้ำทะเลเมื่อพบกับอากาศอุ่น มีผู้เสนอให้ลากจูงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในย่านที่มีปัญหาน้ำขาดแคลนแสนสาหัส

แนวคิดที่จะลากจูงก้อนน้ำแข็งขนาดภูเขามาใช้ให้เกิดประโยชน์มีมากว่าร้อยปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครลงมือทำเนื่องจากมองกันว่ายังมีปัญหาด้านเทคโนโลยีที่จะป้องกันมิให้มันละลายหมดก่อนถึงเป้าหมายในเขตร้อน นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนซึ่งมองกันว่าสูงกว่าน้ำที่หาได้ในท้องถิ่น ณ วันนี้มีผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าจะแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีได้แน่นอน ส่วนด้านต้นทุนนั้นเห็นพ้องต้องกันว่ายังต่ำกว่าการกลั่นน้ำทะเลซึ่งหลายประเทศต้องใช้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น วันไหนมีผู้ประสงค์จะซื้อน้ำจืดจากก้อนน้ำแข็งดังกล่าว วันนั้นกระบวนการเก็บเกี่ยวก้อนน้ำแข็งจากขั้วโลกจะเริ่มขึ้น

ย้อนไปเมื่อสมัยราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดครั้งแรก ผู้สนใจจะใช้น้ำจากแหล่งนี้เคยมีซาอุดีอาระเบียรวมอยู่ด้วย ในการพูดกันล่าสุด ซาอุดีอาระเบียยังไม่มีทีท่าว่าสนใจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและขาดแคลนน้ำพอๆ กับซาอุดีอาระเบียแสดงความสนใจ ส่วนมันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่และเมื่อไรยังไม่มีใครคาดการณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้วคือ ประเทศเหล่านี้ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นทะเลทรายแต่มีรายได้มหาศาลจากการขายน้ำมันปิโตรเลียมเริ่มใช้ทางออกอย่างจริงจังแล้ว 2 ทางด้วยกัน นั่นคือ กลั่นน้ำทะเลเสริมน้ำจืดจากธรรมชาติเพื่อการอุปโภคบริโภคและออกไปกว้านซื้อ หรือเช่าระยะยาวจำพวก 99 ปีที่ดินในต่างแดนที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์เพื่อผลิตอาหารส่งกลับไปยังบ้านของตน กระบวนการแสวงหาอาณานิคมแบบใหม่นี้มหาเศรษฐี เช่น จอร์จ โซรอส เข้าร่วมด้วยและกำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ The Land Grabbers: The New Fight over Who Owns the Earth เขียนโดย Fred Pearce (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ใน www.bannareader.com)

เมื่องไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งซึ่งบรรดามหาเศรษฐีต้องการเข้ามาครอบครองเพราะมีน้ำสมบูรณ์ ส่วนการจะสูญที่ดินทำกินให้แก่พวกเขาหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดของคนไทยพร้อมกับความซื่อสัตย์และวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้อยู่ในรัฐบาลไทยเป็นหลัก