สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน (1)

สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน (1)

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ด้วยปัญหารุมเร้านานับประการ สาขาการท่องเที่ยวเป็นดาวเด่นที่ช่วยฉุดให้เศรษฐกิจไทย

ยังขยายตัวต่อไปได้ ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 32.6 ล้านคน ที่สร้างรายได้สูงถึง 1.63 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหัว เงินจำนวนนี้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ โชว์และสถานที่ท่องเที่ยวตลาด ฯลฯ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว จนถึงร้านริมถนน

การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกส่วนมากมาจากนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนเป็นกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด นักท่องเที่ยวจีนขึ้นชื่อว่าเป็น “ขาช็อป” เนื่องจากมีพฤตติกรรมในการ “ซื้อดะ” เห็นอะไรที่ถูกใจซื้อไม่อั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋าแบรนด์ดัง ราคาสูงลิบลิ่ว หรือ สินค้าพื้นเมืองที่วางขายข้างถนน ข้อมูลจาก Alipay แสดงให้เห็นว่าแหล่งช็อปปิ้งที่คนจีนชื่นชอบมากที่สุด คือ ร้านค้าปลอดภาษีและร้านสะดวกซื้อ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน รายงานของ Euromonitor แสดงว่าในปี พ.ศ. 2559 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าปลอดภาษีเฉลี่ยเพียงหัวละ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,550 บาทเท่านั้น เทียบกับเกาหลีใต้ที่สูงถึงหัวละ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,580 บาท มากกว่าไทยถึงกว่า 5 เท่า ทำให้เกาหลีใต้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยมีรายได้เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน (1)

เกาหลีใต้ได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างรายได้จากธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันกันในธุรกิจร้านค้าสินค้าปลอดภาษีที่ชัดเจน โดยแบ่งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินอินชอนซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิคือประมาณ 60 ล้านคนต่อปี เป็น 12 สัมปทาน โดยในอาคาร 1 แบ่งสัญญาสัมปทานตามพื้นที่ (area concession) 6 สัญญา และ อาคาร 2 แบ่งตามกลุ่มสินค้า (category concession) เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น หนังสือ ฯลฯ อีก 6 สัญญา นอกจากนี้แล้วยังส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในตัวเมืองอีกด้วย โดยมีการให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในกรุงโซลกว่า 10 แห่งโดยมีทั้งร้านขนาดใหญ่ เช่น Lotte Shilla Shinsegae Galleria Duty Free Doot Duty Free และขนาดย่อมเช่น Entras SM Duty Free หรือ Ulsan เป็นต้น กระจายอยู่ทุกย่านของตัวเมืองเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่

หันมามองประเทศไทยแล้วเหมือนหน้ามือกับหลังมือ ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในประเทศไทยไม่ว่าจะในสนามบินหรือในเมืองเป็นของผู้ประกอบการรายเดียวทั่วประเทศ ทำให้ตลาดสินค้าปลอดภาษีเป็นตลาดที่ผูกขาดอย่างสมบูรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเราจึงน้อยนัก  แต่ข่าวดีก็คือ สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่งจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี 2 ประการ

โดยประการแรก ต้องเปิดให้มีการประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในพื้นที่สนามบินแต่ละแห่งโดยการแบ่งสัมปทานตามประเภทของสินค้า (category concession) เพื่อที่จะได้สินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพและเพื่อที่จะเพิ่มรายได้จากสัมปทาน เนื่องจากมาร์จิ้นของธุรกิจค้าปลีกสินค้าแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอางจะมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าเครื่องเขียน เป็นต้น ทำให้การ “เหมารวม” สินค้าเหล่านี้ในสัมปทานเดียวกันไม่ได้รับค่าตอบแทนสูงเท่าที่ควร เหมือนกับการ เหมาขายหนี้ดีและหนี้เสียโดยไม่แยกแยะทำให้รัฐมีรายได้จากการขายทรัพย์สินน้อยกว่าที่ควร การที่ค่าธรรมเนียมสัมปทานของ ทอท. ต่ำกว่าสนามบินอื่นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ร้อยละ 17 ของรายได้จากการจำหน่ายสินค้า เมื่อเทียบกับร้อยละ 40 สำหรับสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ และร้อยละ 46 ของสนามบิน ชางงี ของสิงคโปร์ตามข้อมูลของ Goldman Sachs ที่มีการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้โดย Thai Publica 

สำหรับนโยบายที่สำคัญอีกประการ คือ การเปิดให้มีการแข่งขันในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในเมืองโดยมีการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายรายในหลายพื้นที่ ซึ่งผู้เขียนจะลงรายละเอียดในครั้งหน้า 

โปรดติดตามต่อในวาระทีดีอาร์ไอ

โดย... เดือนเด่น นิคมบริรักษ์