อันเนื่องมาจากคำว่า “ติ่ง”

อันเนื่องมาจากคำว่า “ติ่ง”

Disruptive society ผมไม่เห็นด้วยว่าต้องไปหาคำวิริศมาหราอะไรมาแปลคำนี้ให้ต่างจากความหมายของสภาวะสังคมที่มีความวุ่นวานสับสนอลหม่าน

ถ้าจะพูดว่าตรงกับแนวคิดทางวิชาการของนักสังคมวิทยาที่ถูกกล่าวถึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็ต้องเป็นแนวคิดว่าด้วย Anomie ของ Emile Durkheim รวมทั้ง Robert K Merton ในเวลาต่อมา โดยDurkheim ใช้คำนี้พูดถึงสังคมมนุษย์ที่พวกเราอยู่อาศัยร่วมกันมายาวนานร่วมร้อยกว่าปี สังคมในเวลานั้นเป็นช่วงรอยต่อของยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม สภาพความถ้อยทีถ้อยอาศัย ความผิดเพี้ยนของมนุษย์ในสังคมเริ่มแผลงฤทธิ์จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับสภาพการณ์ในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

ผมต้องเรียนว่า เจตนาของการเขียนบทความชิ้นนี้นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องที่กำลังเป็นไปในสังคมของเราทุกวันนี้ ยังมีเจตนาแฝงเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนในหลายวิชาที่ผมกำลังสอนอยู่ในภาคการศึกษานี้ให้กับนิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่เหมือนจะรู้สึกได้กลิ่นอายของวิชาการเจือปนอยู่ก็อย่าได้ประหลาดใจ

คำว่า “ติ่ง” ที่ผมยกมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบทความ จัดเป็นผลผลิตของการประดิษฐ์ถ้อยคำของคนยุคใหม่ที่ผมเห็นว่ามีนัยสำคัญในการบ่งบอกให้เห็นถึง “ส่วนเกิน” หรือ สิ่งที่อาจไม่มีความจำเป็น ไร้สาระในการต้องเอามาใส่ใจ หรือแม้กระทั่งเป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้พ้นไป

ในเวลานี้สังคมไทยของเรามีสภาพที่เรียกว่า “ติ่ง” อยู่มากมาย ดังปรากฎในหลายเรื่องราวที่ผมใคร่จะนำเสนอและหยิบยกมาให้ท่านทั้งหลายช่วยกันคิดอ่านดังคำจำกัดความที่ได้เรียนให้ทราบในเบื้องต้นถึงวิธีการในการมองปัญหาเรื่องติ่งว่าเราสมควรทำอะไรกับ “ติ่ง” ทั้งหลาย ตั้งแต่บ่นๆ เพราะรำคาญกระทั่งต้องหาทางขจัดปัดเป่าให้ขาดจากการเป็นเสี้ยนหนามของความสงบสุขในสังคม

ยอมรับครับว่า การพูดถึง “ติ่ง” ในวันนี้มีที่มาจากกรณีที่เกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ อันเนื่องมาจากความคลั่งไคล้ดาราของคนบางคนที่ทำให้คนอีกหลายคนเดือดร้อน น่าอับอายขายหน้าไปกระทั่งถึงอาจมีคนโดนไล่ออกจากหน้าที่การงานทางราชการ เพราะการไปช่วยแฟนคลับที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยากสัมผัสใกล้ชิดดาราที่หากจะพูดกันเรื่องของรสนิยมก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยากไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าในส่วนตัวคงอาจตั้งคำถามว่า ทำไปเพื่อ? หรือมีอะไรดีกว่านี้ทำหรือไม่? เป็นอาทิการวิจารณ์มากไปก็อาจถูกหาว่าย้อนยุคหรือหัวอนุรักษ์ เหมือนกรณีภาพแห่งความขัดแย้งกรณีการเชิญชวนนักศึกษามาคัดเลือกผู้นำเชียร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เกิดมุมมองอันหลากหลายและการเห็นต่างอันเนื่องจากทัศนคติรและการโหนกระแสตามๆ กันไปของคนหลายคน

กรณี “ติ่ง หรือความน่ารำคาญในเรื่องที่กล่าวถึงสองสามเรื่องนี้อาจจัดเป็นเรื่องยังไม่น่าจะรุนแรงหรือ “ร้ายแรง” กระทั่งเราต้องหาทางกำจัดเหมือน สิวเสี้ยนหรือฝีหนองที่เป็นสิ่งอันน่ารังเกียจหรือเป็นพิษร้าย อย่างไรก็ตามมี “ติ่ง” บางประเภทที่ถือเป็นพิษภัยและเป็นการคุกคามความสงบสุข รวมทั้งการพัฒนาบ้านเมืองที่จะต้องเร่งกำจัด “ติ่ง” เหล่านี้ให้พ้นไปให้จงได้

เริ่มตั้งแต่ “ติ่ง” ที่ปรากฏในคลิปเมื่อไม่นานมานี้ในกรณีมีผู้กล่าวหาว่า “มีชายไทย” ไปอาละวาดบนเครื่องบินที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างถูกส่งตัวกลับฐานพยายามหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเป็นกรณีอื้อฉาวที่ทราบกันดีของนักเดินทางว่าเหตุใดการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้เหมือนจะมีความยากลำบากกระทั่ง เส้นทางการศึกษาดูงานของทางราชการในหลายครั้งต้องเปลี่ยนไปเยี่ยมเยือนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในอาเซียนด้วยกันแลดูจะได้รับความสะดวกมากกว่า นี่คือตัวอย่างของติ่ง” ที่ทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของคนส่วนใหญ่ที่มีกุศลจิตที่ดี อีกทั้งยังเป็นเรื่องน่าอับอายไม่แพ้ “ติ่ง” ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้

ติ่ง” อีกลักษณะที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆ ตามมามากมายตั้งแต่การทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ ไปกระทั่งการฆ่าแกงเอาชีวิต ทั้งนี้เป็นผลมาจาก “ปมด้อยของคนบางคน” ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญและบานปลายเป็นเรื่องร้ายแรงอื่นๆ เพราะสังคมเรานอกจากคลั่งไคล้ดารา ขอบดราม่ากันแล้ว ยัง “บ้าอำนาจเป็นนิจ” อยากเป็นคนที่คนรู้จักมีชื่อมีเสียง อันนำมาซึ่งปัญหาที่พบมาตั้งแต่มีส่วนร่วมในการปฎิรูปตำรวจ เรายังคงเห็นรถซึ่งไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นรถทางราชการ หรือ รถของบุคคลสำคัญท่านใดที่เป็นของเอกชน มีรถมอเตอร์ไซต์ของทางราชการเช่น ตำรวจ หรือคนแต่งกายคล้ายตำรวจเปิดไซเรนหรือไฟสูง ขับนำไปตามถนนหนทาง บางทีรถเหล่านั้นก็ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนหรือยังใช้ป้ายแดงทั้งที่ดูแล้วทั้งสภาพรถและรุ่นของรถน่าจะไม่ใช่รถรุ่นใหม่ล่าสุดแต่อย่างใด เรายังจำกันได้ที่ก่อนหน้านี้มีหนุ่มนักธุรกิจโพสต์ภาพในอินเตอร์เน็ตเอาปืนวางไว้บนตักแล้วถ่ายภาพให้เห็นว่ามีรถตำรวจวิ่งนำทางให้ ด้วยความที่อาจไม่รู้ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายกระทั่งต้องรีบไล่ลบภาพแทบไม่ทัน แต่คดีก็เหมือนจะลืมๆ กันไปเป็นตัวอย่าง

นอกจากนี้เรายังเห็น “ติ่ง” ของพวกใช้รถใช้ถนนที่ยังขาดระเบียบวินัย คิดว่าเป็นรถที่ราคาแพงทั้งที่อาจยังผ่อนไม่หมด หรือคิดว่ารถสูงใหญ่มีทัศนวิสัยดีกว่า ไปปิดช่องจราจรเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดทั้งในเขตโรงพยาบาลหรือในขณะการจราจรคับคั่งอย่างน่าละอายหรือแม้แต่ “ติ่ง” ที่ชอบจอดรถข้างทางแวะกินข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ด้วยต้องการ โชว์ยี่ห้อรถเหมือนคนมีปมด้อย เมื่อมีเรื่องราวกันก็ไปติดหลงว่า ขับรถยี่ห้อดีกว่าคู่กรณีหรือละเมอเพ้อพกว่า ขับรถยี่ห้อดังตำรวจต้องเกรงกลัว เรื่องเล็กๆ ที่มาจาก “ติ่ง” พวกนี้บางทีเลยบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โต กล่าวได้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก “ปมด้อย” ของคนที่ฮึกเหิมพองขนเพราะความหลงผิดในตน ถือเป็น “ติ่ง” ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เราต้องเร่งกำจัดทั้งด้วยกฎหมายและการลงโทษทางสังคมเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง