เด็กอินเตอร์ (2)

เด็กอินเตอร์ (2)

จากครั้งที่แล้ว คุยเรื่องเล่นของเด็กอินเตอร์เพลินจนยังไปไม่ถึงเรื่องเรียน

ในฐานะที่ผมเป็นเด็กสายวิทย์งั้นขอเริ่มเรื่องวิทยาศาสตร์ก่อน การเรียนที่ ISKL เน้นให้เด็กฝึกตั้งคำถามมากกว่าคำตอบ เช่น ครูของพินเล่าว่าทุกบทจะเริ่มจากการเปิด YouTube ให้ดู Phenomenon ปรากฏการณ์อะไรสักอย่างก่อนเสมอ เช่น แสงเหนือ Aurora การเดินของมดบนหมึกพิมพ์ การจับตัวของหิมะ ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ เสร็จแล้วจะให้เด็กเขียนคำถาม ๆๆๆๆ เพื่อช่วยกันดีไซน์วิธีหาคำตอบ ผิดบ้างถูกบ้างไม่สำคัญ สำคัญที่เด็กเกิดความสงสัย Curiosity และเริ่มคิดวิเคราะห์เป็น

เรื่องการบ้าน เจ้าธีร์มี Home Learning Choice ประจำเดือนก.ย.-ต.ค. 2561 ติดอยู่ข้างฝา ประกอบไปด้วย 1) การอ่านหนังสือในแต่ละวัน 20-30 นาที 2) การเขียนบล็อคเล่าว่าสัปดาห์นี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง (เน้น สิ่งที่เรียนรู้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสอน) และ 3) เลือกแบบฝึกหัด 3 อย่างจากเมนูแล้วทำในสมุดบันทึก เช่น เขียนเรื่องย่อของหนังสือที่ได้อ่าน ฝึกพิมพ์ที่ typing.com แล้วจดคะแนนไว้ ฯลฯ

ผมชอบพวกตัวเลือกแปลก ๆ เช่น ลองตั้งโจทย์เลขแล้วเอาให้พ่อแม่ทำ เดินรอบบ้านดูว่ามีอะไรซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมของครอบครัวเรา ช่วยทำงานบ้านเพิ่มอีกสักอย่าง หรือ เล่น board game กับสมาชิกในบ้านก่อนนอน พ่อแอบอิจฉาเพราะสมัยเราทำไมไม่เห็นมี(วะ) สิ่งที่ลูก ๆ ผมทำเป็น “การบ้าน” ตอนนี้คือสิ่งที่ผมต้อง “แอบ” ครูทำสมัยก่อน

มาฝั่งการวัดผลบ้าง ทุกชั้นเรียนจะมีสิ่งที่เรียกว่า Rubric หน้าตาเป็นตาราง ๆ คล้ายตารางสอน แบ่งเป็นช่องตามลำดับชั้นคือ Not Yet Meeting (N) ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ Approaching (A) เกือบถึงแล้ว Meeting (M) ได้ตามความคาดหวัง และ Extending (E) ล้ำหน้าความคาดหวัง โดยทุกช่องจะมีรายละเอียดเขียนอธิบายว่าสิ่งที่คาดหวังคืออะไร

เด็กจะใช้ Rubric นี้ประเมินความสามารถของตนเองตอนต้นปี แล้วตั้งเป้าหมายที่ต้องการทำได้ พอถึง “วันพบผู้ปกครอง” สิ้นเทอม พินกับธีร์จะทำ Student Led Conference นำเสนอให้ผมกับเพชรฟังว่าตัวเองทำอะไรไปบ้าง เรียนรู้อะไร ได้ตามเป้าหรือเปล่า ส่วนครูจะแค่นั่งฟังเพื่อเช็คความถูกต้องอีกที ไม่เหมือนสมัยผมคือพ่อแม่ไปฟังคำพิพากษาจากครู ส่วนเด็กถูกทิ้งให้อยู่บ้านไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ทุกวันนี้เวลาเขียนรายงาน ลูกสาวผมกาง Rubric ออกมานั่งเช็คตัวเองว่ายังขาดมุมมองใดไปบ้าง เพื่อให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

สิ่งที่ผมชอบคือโรงเรียนนี้เน้นการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การเร่ง ไม่ต้องแข่งกันว่า (ลูก) ใครเป็นคนอายุน้อยสุดที่รู้มากที่สุด เด็กส่วนมากจะได้ M แปลว่าแฮปปี้แล้วทำได้ตามเกณฑ์ หน้าที่ของครูและโรงเรียนไม่ใช่การสอนแต่คือการสร้างนิสัยสนใจใคร่รู้ เหมือน Steve Jobs บอก Stay Hungry; Stay Foolish

ครู ๆ เคยบ่นให้ผมฟังตั้งแต่สมัยลูกอยู่โรงเรียนอินเตอร์ที่เมืองไทยว่า เหนื่อยกับการบอกผู้ปกครองว่า ไม่ต้องท่องไม่ต้องติวเด็ก “We are trying to understand where your child is; not how much he/she remembers from the night before” คำแนะนำของครูที่นี่คือ คืนก่อนสอบให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ ตื่นมากินข้าวเช้าให้อิ่ม สอบจะได้ไม่เครียด เราฟังแล้วอึ้ง

ตัวที่แปลกเป็นพิเศษคือ Pre-Test หรือการประเมินก่อนการสอน ทำเพื่อหา baseline ค่าเริ่มต้นของเด็กแต่ละคน ซึ่งเปิดเทอมปุ๊บมีสอบตัวนี้ปั๊บ คราวนี้พ่อแม่อย่างผมช็อกล่ะสิ ยังไม่ได้สอนอะไรเลยไหงครูสอบแล้ว เพราะสมัยเราครูต้องสอนก่อนจึงจะสอบได้ บางทีถึงขั้นโกรธว่าไม่แฟร์ ตานี้พอครูเร่งสอบพ่อแม่ก็เร่งติว คะแนน Pre-Test เลยออกมาแบบโรยหน้าทั้งที่เด็กยังไม่เข้าใจจริง ๆ พอปลายเทอมสอบใหม่ความจริงปรากฏ ครูก็ปวดหัวส่วนพ่อแม่ก็ปวดใจ

วันก่อนใน FB ผมเห็นคุณแม่ท่านหนึ่งโพสต์ใบติวข้อสอบเข้าโรงเรียนไทยของลูกแล้วยังงง เพราะสิ่งที่เขียนคือวิธีการ “เก็ง” ข้อสอบ ปีที่ผ่านมาข้อสอบออกแนวไหน ปีนี้น่าจะออกอย่างไร อะไรควรท่องอะไรไม่ควรท่อง กระทั่งเขียนกลอนเพื่อช่วยจำสูตรเคมี มันคงเวิร์คแหละเพราะลูกเขาก็เป็นเด็ก “เรียนเก่ง” แต่ในฐานะนักเคมีผมอดสงสัยไม่ได้ว่า การจำสัมผัสกลอนแปดได้นี่มันช่วยให้เด็กคิดหาสูตรยาใหม่ ๆ ในอนาคตได้ด้วยเหรอ?

เล่าชีวิตเด็กอินเตอร์ให้ฟังเฉย ๆ ดังที่ออกตัวไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วนะครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าแบบไหนมันดี แต่ที่แน่ ๆ คือ ลูกผมสนุกและอยากไปโรงเรียนมากกว่าสมัยพ่อเยอะครับ!