ข้อตกลงทะเลสาปคัสเปียน

ข้อตกลงทะเลสาปคัสเปียน

วันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา รัสเซีย อิหร่าน คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน และ อาเซอร์ไบจาน ได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลสาปคัสเปียน

ข้อถกเถียงที่มีมากว่า 20 ปี ทำไมจึงมาลงเอยในตอนนี้ สิ่งที่นึกถึงได้คงไม่มีอะไรเกินไปกว่าความพยายามของรัสเซีย ในฐานะพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้ที่ต้องการรักษาอิทธิพลในบริเวณนี้ต่อไป ข้อตกลงนี้จึงเป็นความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัยภายใต้ภาวะเหตุการณ์โลกที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ในขณะนี้ การลงนามนี้จัดขึ้นที่เมือง Aktau ของคาซัคสถาน บนชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลสาปคัสเปียน ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย ย่อมไม่อาจปิดบังความปลาบปลื้มนี้ได้ 

ข้อตกลงนี้ มีชื่อเรียกว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของทะเลสาปคัสเปียน ใจความสำคัญประกอบด้วย 1) พื้นที่ 15 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ถือเป็นน่านน้ำอธิปไตยของแต่ละประเทศ 2) พื้นที่ 25 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งถือเป็นน่านน้ำการประมงเฉพาะของแต่ละประเทศ 3) กรรมสิทธิ์ของทรัพยากรใต้น้ำที่ยังไม่มีการตกลงจะทำการกำหนดโดยประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมกัน 4) กองทหารที่ไม่ใช่ของประเทศชายฝั่งทะเลสาปคัสเปียน ไม่เป็นที่ยอมรับในทะเลสาบนี้ 

การเจรจาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มต้นในปี 1996 แต่จุดเริ่มจริงๆ มาจากการแตกสลายของสหภาพโซเวียตเดิม ที่ทำให้เกิดประเทศที่ติดชายฝั่งทะเลสาบเพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน และ อาเซอร์ไบจาน ปริมาณน้ำมันดิบใต้ทะเลสาบมีประมาณการที่ 50,000 ล้านบาร์เรล (ประเทศ 3 อันดับแรกที่ผลิตน้ำมันดิบสูงสุดวันละประมาณ 10 ล้านบาร์เรล) และ ปริมาณก๊าซธรรมชาติมีประมาณการที่ 8.4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร นี่คือเดิมพันที่ทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ทะเลสาบคัสเปียนเป็น ทะเลหรือ ทะเลสาบ” ? ถ้าหากเป็น “ทะเล” อำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำและน่านน้ำเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะประเทศจะเป็นไปตามสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่ถ้าเป็น “ทะเลสาบ” แล้ว ยังไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ ปรากฏอยู่ในขณะนี้ คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน และ อาร์เซอร์ไบจาน ถือว่าเป็น “ทะเล” ส่วนอิหร่านที่มีชายฝั่งสั้นต้องการให้เป็น “ทะเลสาบ” เนื่องจากจะได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 5

ข้อสรุปที่ได้คือ ไม่ใช่ “ทะเล” และ ไม่ใช่ “ทะเลสาบ” แต่มี สถานะพิเศษ รัสเซียย่อมไม่อาจยอมรับได้ในกรณีที่เป็น “ทะเล” ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำกัดเฉพาะประเทศที่ติดชายฝั่งอันจะทำให้ไม่สามารถกีดกันประเทศอื่นๆ ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวได้ (โดยเฉพาะสหรัฐและ NATO) แต่ถ้าเป็น “ทะเลสาบ” ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ อิหร่าน 

เวลาช่างประจวบเหมาะ อิหร่านกำลังตกอยู่ใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เหนื่อยล้าจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ รัสเซียก็ได้โอกาสอันดีที่จะบีบให้อิหร่านยอมอ่อนข้อลงบ้าง สำหรับอิหร่านแล้ว การที่ประเทศโดยรอบมีเสถียรภาพจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และจะสามารถหลุดพ้นจากการพึ่งพาแวดวงเศรษฐกิจของเงินดอลลาร์ได้ ในขณะเดียวกัน การรักษาความสัมพันธ์กับอิหร่านทำให้รัสเซียกลายเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญในปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านในภายหลังได้ 

ดังนั้น ความตกลงในครั้งนี้จึงไม่ใช่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเกมแห่งอำนาจที่ได้ลงมือช่วงชิงก่อนในขณะที่จีนเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในตะวันออกกลาง และ ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในระหว่างสหรัฐ ตุรกี และ อิหร่าน เป้าหมายส่วนนี้แสดงให้เห็นได้ชัดในคำปราศรัยต่อที่ประชุมผู้นำในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นหลักประกันว่า กองทหารประเทศอื่นๆ ไม่อาจคงอยู่ได้ในทะเลสาปคัสเปียนแห่งนี้ กล่าวคือ เป็นการตอกย้ำว่า ความคาดหมายอยู่ที่ความมั่นคงมากกว่าการพัฒนาทรัพยากรและการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ที่สหรัฐ เมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เจรจากับประธานาธิบดีคาซัคสถาน นาซาร์บาเยฟ ที่ไปเยือนสหรัฐ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการสร้าง “ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์” คาซัคสถานได้แสดงแนวโน้มที่จะให้สหรัฐใช้ท่าอากาศยานของตนในการขนส่งสัมภาระเพื่อการฟื้นฟูไปยังอัฟกานิสถาน ขณะที่รัสเซียและอิหร่านสามารถปัดเป่าความไม่สบายใจต่อการมาเข้าออกของสหรัฐในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียได้นำกองเรือขนาดเล็กมาประจำการในทะเลสาปคัสเปียนและสามารถทำการยิงครุยส์มิสไซล์จากน่านน้ำนี้ไปยังซีเรียได้อย่างสบาย กองทัพเรือรัสเซียยังมีกำลังเหนือกว่าประเทศอื่นๆ รอบทะเลสาบอีกด้วย นั่นก็คือ เป็นผู้ควบคุมน่านน้ำแห่งนี้ในทางปฏิบัติ เรื่องนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ มีอายุ 78 ปีแล้ว และผู้นำรุ่นต่อไปมีโอกาสที่จะเอนเอียงไปทางสหรัฐสูง 

อีกประเทศที่ไม่ค่อยสบายใจต่อข้อตกลงในครั้งนี้ก็คือ จีน เท่าที่ผ่านมา จีนเกือบจะผูกขาดการซื้อก๊าซธรรมชาติของเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีโครงการที่จะวางท่อส่งก๊าซใต้ทะเลสาบ อันจะทำให้สามารถส่งออกก๊าซไปยังประเทศที่สามได้ แต่รัสเซียคัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากจะทำลายสถานการณ์ผูกขาดการขายก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรปได้ อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังคงพูดอะไรมากไม่ได้ ตราบเท่าที่สิ่งแวดล้อมของทะเลสาปไม่ได้รับผลกระทบตามข้อตกลงที่เพิ่งลงนามไปนี้ สุดท้ายความคาดหวังอีกอย่างหนึ่งของรัสเซียคือ การลดความสำคัญของจีนในภูมิภาคนี้ที่พยายามผลักดันแนวคิดทางเศรษฐกิจ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” 

ประเด็นที่ยังคงเหลืออยู่คือ การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรภายใต้น่านน้ำนอกชายฝั่งของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซีกบนของทะเลสาบมีน้ำมันดิบและก๊าซมากกว่าซีกใต้ที่มีความลึกมากกว่าซีกบนหลายเท่าตัวด้วย จะแบ่งปันกันอย่างไร?

 

ที่มา : 日本経済新聞 2018年8月18日 土曜日 2面。