พื้นฐานแนวคิดการพัฒนาโครงการ 

พื้นฐานแนวคิดการพัฒนาโครงการ 

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวภัยธรรมชาติเกี่ยวกับอุทกภัยพายุ และแผ่นดินไหวกันเนืองๆซึ่งภัยธรรมชาติสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

ทั้งชาวไทยและทั่วโลกสามารถจำแนกออกได้เป็นสามฐานคือ ภัยจากน้ำ ภัยจากแผ่นดิน และภัยจากอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ 

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ธุรกิจ และชีวิตเป็นจำนวนมากจนนานาชาติได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวทางในการลดความเสี่ยงในการเกิดขึ้นของภัยพิบัติ พ.ศ.2558 - 2573 หรือกรอบเซนได(Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015 – 2030) ที่ได้จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดย UNISDR (United Nation Office forDisaster Risk Reduction) ซึ่งได้กำหนดกรอบสำคัญในการดำเนินการ 4 ประการ คือ ศึกษาและทำความเข้าใจกับความเสี่ยงของภัยพิบัติ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวรวมถึง ลงทุนในการลดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ เพื่อสามารถกอบกู้ ฟื้นฟูและสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิมสังเกตเห็นได้ว่าการดำเนินการนั้นตั้งอยู่บนการจัดการ “ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นต้นเหตุของ “ผล” แต่ไม่ได้จัดการผลซึ่งเกิดขึ้นแล้ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการป้องกันหรือลดผลกระทบของผลที่ไม่พึงปรารถนานั่นเอง

แม้ว่าความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติส่วนหนึ่งจะมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบมากกว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์และสังคมเอง เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาฯที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมากและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

หากนำแนวทางในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติข้างต้นมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวคิดในการพัฒนา (Development Concept)สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาฯแล้ว การศึกษาทำความเข้าใจกับบริบทของพื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพ เศรษฐศาสตร์ กฎหมายและข้อบังคับ ชุมชน วัฒนธรรม เทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล รวมถึงทุนทางปัญญา สังคม และสิ่งแวดล้อม จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงความเสี่ยงและโอกาสในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการที่ดีเหมาะสม และส่งเสริมคุณค่าของบริบทนั้นให้มีจุดขายที่โดดเด่น เข้มแข็ง และยั่งยืนทั้งต่อตัวผู้ประกอบการและลูกค้าทางตรงและทางอ้อมด้วย 

เช่น แนวทางในการพัฒนาโครงการที่เน้นการผสมผสานการใช้ประโยชน์ทั้งส่วนพักอาศัย อาคารสำนักงาน และร้านค้า ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมความสมบูรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงในเชิงอุปสงค์และลดการพึ่งพาจากชุมชนภายนอก หรือการอนุรักษ์สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของที่ดินเช่น การอนุรักษ์พันธุ์พืชหรือต้นไม้และแบ่งสัดส่วนพื้นที่นั้นเป็นสวนสาธารณะซึ่งเป็นจุดขายของโครงการ รวมถึงการคงไว้และใช้ประโยชน์จากลักษณะภูมิประเทศ (Terrain) เพื่อลดการต่อเติมหรือขัดขวางเส้นทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมของชุมชนในการผลิตวัสดุก่อสร้างบางประการ เช่น อิฐมอญ หรือบล็อกปูพื้น ผนัง หรือกระเบื้อง เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ชุมชนและสร้างเรื่องราวในการดึงดูดใจผู้บริโภคอีกทั้งยังเป็นการกำหนดช่องทางการสื่อสารและการตลาดที่ดี รวมถึงการเลือกใช้การออกแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เหมาะสมพอดีและเท่าที่จำเป็นและการดูแลโครงการหลังส่งมอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นต้น

หากมองตามแนวคิดในเรื่องการเคารพและให้ความสำคัญต่อบริบทแบบนี้ จะไม่มีที่ดินใดเลยที่ไม่สามารถพัฒนาเชิงคุณค่าได้ และจะไม่มีโครงการอสังหาฯใดเลยที่จะขาดซึ่งการคำนึงถึงความสมดุลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ ทั้งยังส่งเสริมโอกาสในความสำเร็จของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถือเป็นพื้นฐานแรกในแพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนด้วย