นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ในช่วงที่ผ่านมา บทความที่อยู่ในความสนใจของตลาดการเงินได้แก่บทความของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ชื่อว่า “จับชีพจรเงินเฟ้อไทย

อะไรทำให้เงินเฟ้อต่ำมานาน--แล้วจะกลับสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ที่เขียนโดยเศรษฐกรของ ธปท. 4 ท่าน

สาเหตุที่น่าสนใจ เพราะมองว่าอาจเป็น กระสุนทางวิชาการนัดสำคัญที่จะทำให้ ธปท. สามารถต่อรองกับกระทรวงการคลังในการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปลง จากปัจจุบันที่ 1-4% ต่อปี หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นเพียงบางช่วงที่เริ่มกลับมาเข้าสู่กรอบบ้าง) โดยหากสามารถทำให้สาธารณชนเชื่อได้แล้วว่าเงินเฟ้อที่ตกต่ำมาโดยตลอดนั้นเกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้าง มิใช่ความผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจแล้วนั้น ก็อาจตอบคำถามของกระทรวงการคลังได้ และสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อก็ตาม

บทความนั้นกล่าวถึงสาเหตุของเงินเฟ้อต่ำ ว่าเกิดทั้งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยเชิงวัฎจักร โดยในเชิงโครงสร้างเกิดจากการเกิดเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตที่ทำให้ต้นทุนถูกลง เช่น Shale oil หรือการขุดเจาะน้ำมันใต้หินดินดานด้วยเทคนิคพิเศษ ที่ทำให้ได้น้ำมันเป็นจำนวนมากในราคาที่ถูกลง รวมถึงการขยายตัวของ e-commerce ที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยมองว่าปัจจัยต่างๆ ที่บทความกล่าวถึงเป็นการมองเพียงบางส่วน และมองจากองค์ประกอบของเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองเป็นองค์รวมของเศรษฐกิจว่าเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 4 ปีนั้นเป็น 1 ในสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเรื้อรัง อันเป็นผลจากพลวัตของอุปสงค์ (Demand Dynamic) ที่ตกต่ำระยะยาว เห็นได้จากหลักฐาน 5 ประการ กล่าวคือ

  1. ช่องว่างการผลิต (Output gap)ที่วัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 ปีติดต่อกันบ่งชี้ว่าภาคการผลิตไทยใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าศักยภาพมาก
  2. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) ที่สะท้อนถึงส่วนต่างระหว่างการออมและการลงทุน โดยบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกันบ่งชี้ว่าการลงทุนของไทยต่ำกว่าการออมโดยตลอด
  3. การขยายตัวของสินเชื่อ (Loan growth)ที่แม้ว่าจะฟื้นตัวบ้าง (ที่ประมาณ 5.4% ต่อปีในไตรมาสที่ 2) แต่ก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับอัตราการหมุนของเงิน (Velocity) ที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมถึงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีหลัง
  4. ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปโดยหากวัดจากดัชนีค่าเงินบาทที่เปรียบเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าและคู่แข่ง (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ที่แข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา บ่งชี้ว่าความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยลดลงเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่งอย่างต่อเนื่องมากว่า 18 ปี
  5. ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ระดับสูงเกินไปมาโดยตลอด โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อันได้แก่ ดอกเบี้ยนโยบายลบกับอัตราเงินเฟ้อ โดยหากเป็นบวกจะจูงใจให้เก็บออมมากกว่าลงทุน) เป็นบวกมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวซึมเซาและนโยบายการเงินน่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น

ภาพทั้ง 5 บ่งชี้ว่า นโยบายการเงินที่ผ่านมาตึงตัวเกินไป มุ่งเน้นแต่จะคุมเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่เงินเฟ้อในประเทศเกิดจากต้นทุนการผลิต (Cost-push Inflation) เป็นหลัก และไม่มีองค์ประกอบที่เกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) เลย ซึ่งการที่ ธปท. มุ่งเน้นแต่จะคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก และละเลยการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ (Output Gap) และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจซึมยาวเช่นในปัจจุบัน

นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมายถึง 4 ปีติดต่อกัน ทำให้คนไทยเริ่ม จมอยู่กับเงินฝืด” (Deflationary Mindset) โดยจะไม่อยากจับจ่าย หากสินค้านั้นไม่ได้ลดราคาหรือมีการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องหันไปกดค่าแรงลง ทำให้รายได้ไม่ปรับขึ้น ส่งผลต่อให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่าย วนเป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้ต่อเนื่องกันไป

สำหรับทางแก้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าต้องดำเนินนโยบายหลายประการสอดคล้องกัน กล่าวคือ

1.เปลี่ยนแนวคิดของผู้กำหนดนโยบาย ที่ว่าเงินเฟ้อต่ำเป็นสิ่งดีแต่อาจต้องให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง และมีองค์ประกอบของ Demand-pull Inflation ด้วย

2.นโยบายการเงินและการคลังต้องสอดคล้องกันและตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญ 4 ประการ คือ (1) พลวัตรของอุปสงค์ที่ตกต่ำ (2) เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ (3) ภาวะ “จมอยู่กับเงินฝืด” และ (4) ค่าเงินที่แข็งค่าเกินไป

3.กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันที่ 1-4% ต่อปีนั้นต่ำเกินไป รวมถึงมีช่วงที่กว้างเกินไปโดยหากพิจารณาในช่วงปี 2002-2008 ที่เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ต่อปี (และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 2%) นั้น เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างน่าพึงพอใจในระดับ 5.3% ต่อปี

ทั้งนี้ อาจมีคำถามว่าในปัจจุบันที่เงินเฟ้อตกต่ำทั่วโลกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างแล้วนั้น การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้สูงเกินไปเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งหากคิดกลับในอีกมุมหนึ่งแล้ว ก็อาจตั้งคำถามได้เช่นกันว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ยิ่งทำให้มีช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเต็มศักยภาพอีกครั้งโดยไม่ต้องกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อพุ่งทะยาน (Hyperinflation) มิใช่หรือ

4.นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายประเทศไทย อาจต้องเปิดให้มีการถกเถียงกันว่า ยังจำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่หรือไม่หรืออาจใช้เป้าหมายอื่น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจแทน ดังเช่นสิงคโปร์ที่มีลักษณะเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างต่อการค้าและการลงทุนเช่นเดียวกับประเทศไทย

โดยในสิงคโปร์นั้น จะประกาศทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินทุก ๆ 6 เดือน และใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเพื่อให้ค่าเงินเคลื่อนไหวในทิศทางที่ประกาศไว้ข้างต้น ทำให้สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ และยังทำให้ค่าเงินสามารถแข่งขันได้กับคู่ค้าคู่แข่ง

เหล่านี้คือคำถามที่นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายต้องขบคิด โดยเฉพาะคำถามที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยคืออะไร

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]