เสียงเพรียกจากภูกระดึง

เสียงเพรียกจากภูกระดึง

หนาวหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมกับเพื่อนๆ นิสิต นัดหมายไปปักหมุดเป็น “ผู้พิชิตภูกระดึง”

ผมจำได้แม่นว่าทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก สองเท้าสองขาปีนป่ายอย่างมุ่งมั่น ไปให้ถึงหลังแป

ห้วงเวลานั้น มีการพูดถึงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงแล้ว แต่วัยคะนอง เยี่ยงคนอายุ 20 จะแคร์อะไรกับกระเช้าไฟฟ้า ในเมื่อสองแขนสองขายังมีกำลังวังชาล้นเหลือ

ถึงตอนนี้ ผมไม่มั่นใจเสียแล้วว่า วัยแลสังขาร จะกลับขึ้นไปบนยอดภูสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้อีกหนไหม

วานนี้ (จันทร์ที่ 17 ก.ย.) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางตรวจราชการ และปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดเลย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย วชิรวิชญ์ สกุลดีโชติวัฒน์” อยากให้รัฐบาล เคาะลงมาเลยว่า สร้างหรือไม่สร้าง

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ติดค้างอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากได้ข้อยุติเร็ว เท่ากับเปิดมุมมองใหม่การท่องเที่ยวและสร้างโอกาสเศรษฐกิจของท้องถิ่นชุมชน

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เจ้าภาพหลักไปว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษากำหนดทางเลือก แนวเส้นทาง และตำแหน่งที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้า อยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวไป 3 กม. รูปแบบกระเช้าแบบเก๋ง 8 ที่นั่ง 32 ตัว รับได้ 4-15 คนต่อครั้ง 4,000 คน ต่อชั่วโมง 10,000 คนต่อวัน

กระเช้ามีความยาวในทางราบ 4.4 กม.สถานีต้นทาง และปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

การออกแบบลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยการประกอบชิ้นส่วนนอกเขตป่าไม้ และขนส่งไปติดตั้งทางอากาศ มีเสารองรับ 7 ต้น

สูญเสียพื้นที่ป่า 5,700 ตารางเมตร พื้นที่โครงการไม่อยู่ในเขตแหล่งอาศัยหรือหากินที่สำคัญของสัตว์ป่า

เสียพื้นที่ป่าน้อยกว่าวางท่อก๊าซ ปตท.

ค่าก่อสร้างรวมประมาณ 633 ล้านบาท

ส่วนลูกหาบ และร้านค้า อบต.ได้พูดคุยกำหนดแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพให้แล้ว ความจริงลูกหาบ กำลังจะหมดไปเพราะลูกหลานไม่สานต่อ

ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปภูกระดึง ปีละ 62,000 คน ถ้ามีกระเช้าตั้งเป้าไว้เฉลี่ย 253,500 คนต่อปี หรือเพิ่ม 4 เท่า

แม้การก่อสร้างไม่กระทบป่า แต่หากไม่จัดการไม่ดีพอ ภูกระดึงก็อาจจะเป็นสลัมนักท่องเที่ยวก็ได้