สต็อกสินค้า จัดการเป็น เห็นอนาคต

สต็อกสินค้า จัดการเป็น เห็นอนาคต

สินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย และสำคัญมากขึ้นไปอีกสำหรับธุรกิจการค้า ซื้อมาขายไป ไม่ว่าจะเป็นค้าส่งหรือค้าปลีกก็ตาม

ซึ่งคำว่า “สต็อก” ที่พูดกันทั่วไปนั้นอาจจะให้น้ำหนักไปที่สินค้าสำเร็จรูป หรือสินค้าพร้อมขายที่อยู่ปลายทางเป็นหลัก เพราะภาคการค้าไม่ได้ทำการผลิต ได้มาอย่างไรก็จำหน่ายออกไปอย่างนั้น จึงเป็นการเคลื่อนย้ายของจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งเท่านั้น

หากแต่ความเป็นจริง ถ้าจะบ่งชี้ถึงสินค้าคงคลังจริงๆให้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว ต้องไปดูในฝากฝั่งการผลิตที่เป็นโรงงาน จะได้นิยามความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ (1) วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สั่งนำเข้ามา (parts and materials) ถือเป็นต้นทุนพื้นฐาน (2) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าระหว่างกระบวนการผลิต ที่มักเรียกกันก็ว่า วิพ (WIP ซึ่งย่อมาจาก Work In Process) เป็นสต็อกที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต และ (3) สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) เป็นสินค้าขั้นปลายของบริษัทนั้นๆที่พร้อมส่งไปให้ลูกค้าภายนอกต่อไป ดังนั้นการควบคุมดูแลให้มีภาระค่าใช้จ่ายจากสินค้าคงคลัง คงต้องดูประกอบทั้ง 3 ส่วน ตัวอย่างร้านอาหารก็คือ ข้าวสาร ข้าวสวย และข้าวผัด  ยิ่งมีสต็อกน้อยเท่าไร ภาระต้นทุนที่จมอยู่ยิ่งน้อยเท่านั้น

ที่นี้เรามาพิจารณาธุรกิจค้าขาย (trading firm) สินค้าสำเร็จรูปต่างๆที่มีมากมายหลากหลาย ซึ่งแต่เดิมจะกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามร้านค้า ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ (ในยุค Off-Line) แต่ในปัจจุบัน (ยุค On-Line) สินค้าต่างๆมักจะอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าเป็นหลัก และมีสต็อกน้อยๆพร้อมส่งอยู่ที่ตัวผู้ค้ารายเล็กที่มีหน้าร้านออนไลน์หรือขายผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นรูปแบบการจัดการสต็อกของสินค้าจึงเปลี่ยนไปอย่างมาก ใครที่คิดว่าจะเลือกหาสินค้าทุกรุ่น ทุกแบบ ทุกสี ทุกขนาด ทุกสไตล์ในร้านค้าหนึ่งๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ กลยุทธ์การกำหนดราคา หรือ Pricing Strategy ซึ่งนักช้อปมืออาชีพ หรือแม้แต่คนที่นานๆช้อปที ก็อาจจะงุนงงสงสัยและทำให้คิดไปได้ต่างๆนานา เพราะราคาสินค้ามักลดกันแบบฮวบๆจากราคาปกติที่แสดงบนป้ายราคา หรือแตกต่างอย่างมากมายจากราคาตอนที่ออกขายใหม่ๆ (new arrival)

สินค้าบางประเภทจะเห็นได้ว่าราคาเริ่มต้นตอนวางจำหน่ายใหม่ๆ กับราคาที่ลดลง ต่างกันเกือบครึ่งหรือลดเกินครึ่งก็มี ซึ่งราคาตั้งต้นจะสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์นั้นได้วางตำแหน่งทางการตลาด (positioning) ไว้อยู่ที่จุดใด ถ้าเป็นแบรนด์หรูจับตลาดไฮสุดๆชนิดผลิตไม่มากต้องสั่งจองหรือเข้าคิวเลือกซื้อ ราคาก็จะสูงลิบลิ่ว แต่ถ้าเป็นแบรนด์ดังแต่จับตลาดกว้างหน่อย (premium mass) อย่างแบรนด์เสื้อผ้าที่เราคุ้นเคย อาทิ Uniqlo หรือ H&M ก็อาจจะตั้งราคาที่คนชั้นกลางเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งสินค้าที่แฟชั่นมากๆ ออกตามเทศกาล และฤดูกาล กลุ่มนี้มักจะมีราคาตั้งต้นที่สูงและจะลดหนักมากเมื่อจบช่วงเวลาของมัน แต่แน่นอนดีไซน์ก็ล้ำนำสมัยเช่นกัน

ในขณะที่สินค้าที่มีรูปลักษณ์ที่สวมใส่หรือใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ถ้าเป็นเสื้อผ้าก็เป็นสีพื้นๆหรือสีนิยมตลอดกาล และดีไซน์ไม่ล้าสมัยไม่ตกเทรนด์ง่ายๆ กลุ่มพวกนี้ราคาก็จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นสินค้าที่อยู่ประจำร้านเป็นฐานรายได้ประจำ ถ้าเป็นร้านกาแฟก็คงเปรียบได้กับ Espresso Cappuccino Latte หรือ Americano ประมาณนั้น

แต่เชื่อว่าบางทีเราก็นึกสงสัยว่าราคาสินค้าที่ลดกันมากกว่า 50% บางชนิดลดกันถึง 80% หรือซื้อ 2 แถม 1 อะไรประมาณนั้น ทำไมถึงลดราคากันได้น่าใจหายกันขนาดนั้น ทำให้บางคนคิดว่าต้นทุนคงน้อยนิดละสิถ้า ขายแบบถอนทุนไม่เอากำไรกันแล้ว หรือเข้าข่ายได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรแล้วต้องเอาไปทิ้งในที่สุด ความจริงแล้วสินค้าทุกชิ้นมีต้นทุนและถูกบันทึกไว้ในบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ซื้อย่อมไม่มีใครรู้ว่าเท่าไร นอกจากเจ้าของร้านค้า

ในการบริหารสินค้าคงคลัง ยิ่งนานวันสินค้าที่ขายไม่ได้ก็จะกลายเป็นภาระมากขึ้น เพราะไม่ใช่ต้นทุนสินค้านำเข้าเท่านั้น หากแต่มีภาระต้นทุนการถือครอง ค่าพื้นที่ ค่าดูแลรักษาและตรวจนับ หรือบางครั้งเสื่อมสภาพจนต้องแทงศูนย์ หรือแจ้งหายไปดื้อๆจากตัวเลขในบัญชี ซีงแบบหลังคงไม่ดีนักเพราะสรรพากรคงไม่อยากจะเชื่อด้วย ไม่รู้ว่าเจ้าของร้านนำสินค้าไปขายแล้วไม่ลงบัญชีหรือไม่ ดังนั้นการลดราคาขายถูกๆออกบิลและลงบัญชีถูกต้องจึงเป็นทางออกที่ win-win ทุกฝ่าย ได้น้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แถมยังไม่ต้องถูกตรวจสอบหนักจากกรมสรรพากรด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจค้าขายก็คือ การมีสต็อกของสินค้าให้น้อยที่สุด ขายดี ขายง่าย ขายคล่อง ระบายสินค้าค้างสต็อกให้ได้เร็ว หมุนวนกันไปให้ทันกับเทรนด์หรือสมัยนิยม อย่าให้ตกยุคหลุดสมัย ในฐานะที่ครั้งหนึ่งผมเคยดูแลสินค้ากลุ่มหนังสือมาก่อน โชคดีที่ตัดสินใจได้ทันและเลิกผลิตได้เร็วก่อนที่กระแสดิจิทัลจะมากลืนกิน ไม่งั้นคงเจ็บตัวหนัก จึงไม่อยากให้คนอื่นๆล่าช้าในการตัดสินใจ จัดการให้เป็น เห็นอนาคตครับ