บทบาทไทยหายไปในเวทีอาเซียน

บทบาทไทยหายไปในเวทีอาเซียน

สัปดาห์ที่แล้ว องค์กรเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum) จัดงานใหญ่ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

ฉลองความสำเร็จและศักยภาพของเศรษฐกิจอาเซียน ที่ครบรอบ 50 ปีของการจัดตั้งปีที่แล้ว พูดถึงความสำเร็จของอาเซียน โดยจุดพลุการเติบโตของธุรกิจรุ่นใหม่ (start-ups) ในอาเซียนที่ใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือ พูดถึงความท้าทายที่ประเทศอาเซียนต้องก้าวข้ามในยุคสมัยโลก 4.0 รวมถึงประเด็นที่ประเทศในอาเซียนต้องเตรียมตัว เช่น ทักษะและความสามารถของคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนในอนาคต 

สิ่งเหล่านี้ คือ ความสำเร็จที่น่าประทับใจที่โลกควรต้องตระหนักและรู้ถึงศักยภาพของประเทศในอาเซียน แต่ที่แปลกใจก็คือ บทบาทของประเทศไทยในเวทีอาเซียนสัปดาห์ที่แล้วมีน้อยมาก คือ ขณะที่ผู้นำประเทศของ 8 ใน 10 ประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับการประชุมนี้ และเข้าร่วมวงสนทนาเพื่อแสดงความเห็นด้วยตนเอง มีผู้นำของ 2 ประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้มาร่วม ซึ่งรวมถึงไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (ตามโปรแกรม) คือ พล.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นผู้แทนร่วมวงเสวนาระดับผู้นำประเทศ นอกจากนี้ จากวิทยากรเกือบร้อยคนที่ได้รับเชิญมาให้ความเห็นในการประชุม 2 วัน ที่กรุงฮานอย มีวิทยากรจากเมืองไทยเพียง 3 คน ตามโปรแกรม คือ ดร.วิระไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.สันติธาร เสถียรไทย จากบริษัท SEA กรุ๊ป และอีกท่านเป็นผู้บริหารของ WEF 

นอกจากนี้ในบรรดาบริษัทรุ่นใหม่หรือ start-ups ในอาเซียนที่ได้รับเชิญมาเปิดตัวกว่า 80 บริษัท มีบริษัทไทยมาร่วมเปิดตัวเพียง 7 บริษัท เทียบกับอินโดนีเซีย ที่มีถึง 20 บริษัท และสิงคโปร์ 24 บริษัท

ผมดูข้อมูลเหล่านี้แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำในอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ทำไมบทบาทของประเทศไทย ทั้งระดับการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชน จึงดูเงียบจัง

ในอดีต บทบาทของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียนอยู่ในฐานะผู้นำ เราเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งสมาพันธ์อาเซียนปี 2510 เพื่อส่งเสริมสันติสุข เสถียรภาพ และความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค และที่ผ่านมา ไทยก็เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยนโยบายเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน สามารถดึงเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน จนเหมือนเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับเศรษฐกิจโลก ช่วง 50 ปีของการจัดตั้ง สมาพันธ์อาเซียน มีเลขาธิการจากประเทศไทย 2 คน คือ คุณแผน วรรณเมธี (ปี 2527 – 2529) และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ปี 2551-2555) เป็นช่วงที่ประเทศในอาเซียนต้องผ่านสถานการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ และได้เติบโตเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีรายได้ประชาชาติรวมกันกว่า 2.77 ล้านล้านดอลล่าร์ต่อปี มีประชากรกว่า 630 ล้านคน และขยายตัวได้มากกว่า 5% ต่อปี

บทบาทไทยหายไปในเวทีอาเซียน

ความสำเร็จเหล่านี้น่าประทับใจ แต่เทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีก 9 ประเทศ ความสำคัญของเศรษฐกิจไทย ประเทศไทยในสายตาคนนอก และคนในอาเซียนกลับดูลดลง ด้านการเติบโต อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เฉลี่ยเพียง 3.0%ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับอัตราเฉลี่ยของอาเซียนที่ 5.1% และมีหลายปีที่การขยายตัวของไทยต่ำสุดในอาเซียน ในแง่ความสามารถในการแข่งขัน ไทยอยู่อันดับที่ 32 ของโลก ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ในภาคธุรกิจ บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วในเอเชีย จัดอันดับโดยนิตยสาร Nikkei Asian Review ในดัชนี ASIA 300 มีบริษัทไทยติดอันดับ 25 บริษัท เท่ากับอินโดนีเซีย ด้านดัชนีความโปร่งใสหรือเรื่องคอร์รัปชัน ไทยได้คะแนน 37 จาก 100 เท่ากับอินโดนีเซีย ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัย 100 อันดับแรกของเอเชีย มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับเพียงแห่งเดียว คือ มหิดล น้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และในบางดัชนีก็น้อยกว่าอินโดนีเซีย ล่าสุด เหรียญทองเอเชียนเกมส์ไทยได้ 11 เหรียญทอง อยู่ในอันดับที่ 12 เทียบกับอินโดนีเซียที่ได้ 31 เหรียญทอง เป็นอันดับที่ 4 ทั้งๆ ที่เราส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมาก เป็นที่ 3 รองจากจีนและอินโดนีเซีย

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดว่า ในหลายประเด็น ความสามารถของประเทศไทยเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนได้ถดถอยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะเราเอง ที่ไม่ได้พยายามทำอะไรให้ดีขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้พยายามมากกว่า ตั้งใจมากกว่าและมีความทะเยอทะยานกว่า จนสามารถแซงประเทศชั้นนำในอดีตอย่างไทยได้ ชี้ว่า ในโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เต็มไปด้วยความเสี่ยงและโอกาส บทบาทของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศจึงสำคัญมาก เพราะสามารถทำให้ประเทศและประชาชนเสียโอกาสและล้าหลังได้ ถ้าคนที่รับผิดชอบไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควร

ทั้งนี้ สาเหตุที่ประเทศไทยไม่สามารถก้าวหน้าได้เร็วเหมือนประเทศอาเซียนอื่นๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศเรามีความเสื่อมถอยในเกือบทุกสถาบันหลักที่เป็นพื้นฐานของประเทศ เช่น สถาบันการเมืองที่ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยได้เหมือนประเทศอื่นๆในอาเซียน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราไม่ต่อเนื่อง ทำให้การเมืองของประเทศมีปัญหา และกระทบความต่อเนื่องของนโยบาย สถาบันข้าราชการก็ดูจะตามยุคสมัยไม่ทัน มีจิตสำนึกหรือ mindset อยู่ที่การออกกฎระเบียบ ควบคุม และรักษาอำนาจของข้าราชการมากกว่าที่จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับตัวและแข่งขันได้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวม ทำให้ประเทศมีต้นทุนสูง จนไม่สามารถแข่งขันได้ สำหรับภาคเอกชน ธุรกิจส่วนใหญ่ยังแยกไม่ออกระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม มุ่งแต่จะหากำไร โดยไม่คำนึงเรื่องธรรมาภิบาล และผลกระทบที่จะมีต่อสังคมและส่วนรวม ประเทศจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมาก ท้ายสุด ภาคประชาสังคม ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ขาดที่พึ่งและระบบสวัสดิการรองรับ ต้องพึ่งรัฐบาลมาก ทำให้เป็นภาระและอ่อนไหวง่ายต่อนโยบายประชานิยมของนักการเมือง

เหล่านี้คือ จุดอ่อนที่ทำให้ประเทศไทยดูถดถอยลง เทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็ยังไม่สาย ในอดีตคือบทเรียนที่เราต้องไม่ทำซ้ำ คนไทยฉลาดพอที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประเทศเดินหน้า ให้คนไทยกลับมาภูมิใจในประเทศของเราเหมือนอย่างที่เคยมี