หมอปลอมตาม มติครม. น่ากลัวยิ่งกว่า หมอเถื่อน!!!

หมอปลอมตาม มติครม. น่ากลัวยิ่งกว่า หมอเถื่อน!!!

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ผ่านมติสำคัญว่า “ให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งเป็นอิสระจากสภาวิชาชีพได้….”

มตินี้กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สภาวิชาชีพไม่มีอำนาจในการกำหนด รับรอง หรืออนุมัติหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แม้ว่าสภาวิชาชีพจะเห็นว่ายังไม่ได้มาตรฐานพอ ทั้งนี้คาดว่าด้วยเหตุผลเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการจัดตั้งคณะใหม่ ๆ ได้โดยเสรี ข่าวนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับบุคลากรในแวดวงการศึกษาและโดยเฉพาะวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้ป่วย เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม เป็นต้น เหตุเพราะไม่สามารถกำกับดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนได้อีกต่อไป!!!

วงในทราบกันดีว่า ที่ผ่านมามีหลายสถาบันที่ต้องการเปิดสาขาด้านนี้ แต่สภาวิชาชีพไม่สามารถอนุมัติได้เพราะเมื่อลงไปตรวจสอบกลับพบว่ามีความไม่พร้อม อาทิ เครื่องมือด้านการแพทย์ประกอบการเรียนการสอน จำนวนและคุณวุฒิของบุคลากร ความไม่พร้อมของสถาบันฝึกงาน(โรงพยาบาล) ปริมาณและความหลากหลายของผู้ป่วยและโรคที่ต้องเป็นเสมือนครูอาจารย์ให้นักศึกษาแพทย์ ทัศนคติของอาจารย์ทั้งในคณะและโรงพยาบาลฝึกงาน ทั้งหมดนี้หาใช่การก้าวก่ายหรือกีดกันสถาบันอุดมศึกษา แต่เป็นไปเพื่อปกป้องผู้ปกครอง นักศึกษา ตลอดจนชีวิตผู้ป่วย ที่ผ่านมาเคยมีการดึงดันเก็บเงินและเปิดหลักสูตรไปโดยสภาวิชาชีพยังไม่รับรองเช่นพยาบาล ผลคือเราได้นักศึกษาที่มีกระดาษรับรองความรู้หนึ่งใบ แต่ความรู้ความสามารถจริงกลับไม่เพียงพอต่อการต้องมารับผิดชอบชีวิตคน จนสร้างความเดือดร้อนต่อทั้งตัวนักศึกษา ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้มีทั้ง “หมอจริง หมอเถื่อน” ปะปนอยู่ในสังคมจนสร้างความวิตกกังวลว่า เราฝากผีฝากไข้กับคนที่ใช่ จริงหรือไม่ แต่มติครม.ดังกล่าว อาจสร้างหมอพันธุ์ใหม่เพิ่มเข้ามาคือ “หมอปลอม พยาบาลปลอม!! 

หมอเถื่อน ต่างกับ หมอปลอม ตรงไหน ??

“หมอเถื่อน” คือคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนความรู้ด้านการแพทย์ตามระบบอย่างถูกต้อง มักเป็นผู้ที่เคยเป็นลูกมือในคลินิก อาศัยครูพักลักจำ และใช้ความรู้ครึ่งๆ กลางๆ มาเปิดคลินิกด้วยตัวเอง กลุ่มเหล่านี้มักรักษาโรคง่ายๆ ประเภทจ่ายยาทาน ฉีดยาง่าย ๆ ทำแผล ที่หนักกว่าคือไปเปิดคลินิกเสริมสวย ฉีดbotox เสริมจมูกเสริมนม ตามที่เคยเป็นข่าวว่ามีผู้หลงเชื่อเสียหายนับพันราย แถมยังอ้างว่าตนเองเก่งกว่าหมอจริง

“หมอปลอม” คือคนที่ร่ำเรียนตามระบบจนได้ปริญญาด้านแพทยศาสตร์ แต่ไม่ผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งแปลว่า ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะไปรักษาผู้ป่วย ทั้งอาจเนื่องจากความรู้ความสามารถไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน ทัศนคติ สภาพจิตใจที่ไม่ปกติ เป็นต้น ที่ผ่านมากรณีนี้ในอดีตมักเกิดขึ้นจากการไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เมื่อจบมาแล้วและเข้ารับการทดสอบจากสภาวิชาชีพ จึงทราบว่าทักษะความรู้ความสามารถไม่เพียงพอหรือทัศนคติและสภาพจิตใจมีปัญหาเกินกว่าที่จะปล่อยให้ไปรับผิดชอบชีวิตคนได้ แม้ว่าจะเสียดายต่อเงินทองและเวลาที่เขาเหล่านั้นและผู้ปกครองต้องเสียไป แต่ภารกิจในการปกป้องผู้ป่วยนั้นสำคัญยิ่งกว่า ทว่าปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันลดลงไปมากตั้งแต่สภาวิชาชีพเข้าไปให้การช่วยเหลือดูแลสถาบันอุดมศึกษา

แต่ทันทีที่ ครม.ผ่านมติดังกล่าว เท่ากับว่า ประเทศไทยจะ ย้อนยุค ปล่อยให้ผู้ปกครอง นักศึกษา ตลอดจนชีวิตผู้ป่วย กลับไปอยู่ในความเสี่ยงเหมือนในอดีต !! ผู้เขียนไม่ทราบว่าเหตุผลที่ถูกนำมาอ้างเพื่อออกมตินี้คืออะไร ...เพิ่มจำนวนแพทย์พยาบาล (แต่ไม่สนใจคุณภาพ ไม่สนใจชีวิตผู้ป่วย)? เพื่อมิให้สถาบันอุดมศึกษาปิดตัวเพราะจำนวนนักศึกษาลดลง? เพื่อทำให้ประเทศเป็น Medical hub? เพื่อส่งออกแพทย์พยาบาลไปต่างประเทศ (แบบเดียวกับPhilippines Cuba)? สถาบันอุดมศึกษาในประเทศทุกแห่งได้มาตรฐานดีพอแล้วที่จะดูแลคุณภาพหลักสูตรได้ด้วยตนเอง? ..... แต่เห็นภาพว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กับ ปัญหา หมอปลอม

ปัญหานี้เริ่มจากเนื้อหาใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  ม.40 ว่า การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง  ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา ตามด้วย (ร่าง) พรบ.การอุดมศึกษา.. ซึ่งมีเนื้อหาหลักที่จะลดทอนอำนาจของสภาวิชาชีพจากเดิมที่สามารถเข้าไปดูแลกำกับหลักสูตรได้ตั้งแต่ต้นทาง เหลือเพียงแค่การเสนอแนะความคิดเห็นต่อ คณะกรรมการบริหารการอุดมศึกษา ซึ่งจะเป็นผู้อนุมัติหลักสูตรทุกชนิดแต่เพียงผู้เดียวเมื่อร่างนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แม้ร่างนี้จะยังไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่มติครม.ล่าสุดก็ตอกย้ำว่า “ในอนาคตนั้นสภาวิชาชีพมีหน้าที่เพียงประเมินเมื่อนักศึกษาจ่ายเงินและเล่าเรียนครบตามหลักสูตรแล้วเท่านั้น” ซึ่งหมายถึงการวัดดวงกันนาทีสุดท้าย ว่าจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพจริงหรือไม่หลังเรียนจบแล้ว 

ผลที่คาดว่าจะตามมา (1) มีการเปิดตัวใหม่ของคณะแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกรรม รังสี กายภาพบำบัด มากมาย (2) จำนวนบุคลากรมากเกินความต้องการ (ทุกวันนี้ ปัญหา ไม่ใช่จำนวน แต่เป็นการกระจายตัว) (3) คุณภาพการรักษามีปัญหา (ตัวอย่างในต่างประเทศ ที่มีคณะแพทย์พยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานพอ) (4) มีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อติวข้อสอบใบประกอบวิชาชีพเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหา “จ่ายครบจบแน่” แต่สอบใบอนุญาตไม่ผ่าน (5) สร้างความทุกข์ให้กับ ผู้ปกครอง และ นักศึกษา เมื่อไม่ผ่านการประเมิน แม้เรียนจบแล้ว (6) เกิดหมอปลอมปะปนกับ หมอเถื่อน เพราะลงทุนไปแล้วยังไงก็ต้องประกอบวิชาชีพให้ได้ (7) ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงต่อชีวิตและอนามัย (8) ภาพลักษณ์การศึกษาและสาธารณสุขของประเทศถูกมองว่าถอยหลังเข้าคลอง

ที่ผ่านมา ผู้นำของชาติเคยกล่าวในต่อสาธารณชนว่า “มหาวิทยาลัยต้องผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ของประเทศชาติ อย่ามุ่งแต่ปริมาณหรือผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรือหน้าตาของสถาบัน จนทำให้ต่างชาติดูถูกว่า เรียนจบแต่ทำงานไม่เป็น” ซึ่งที่ผ่านมาสภาวิชาชีพก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ มติครม.กำลังจะเพิ่มปริมาณหมอปลอมซึ่งจับผิดได้ยากกว่าหมอเถื่อน ปัญหานี้คงต้องพึ่งองค์กรด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่า “การเข้าไปดูแลหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาโดยสภาวิชาชีพตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึง ปลายทาง เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งของประเทศชาติ ผู้ปกครอง เยาวชนและที่สำคัญคือชีวิตและอนามัยของคนทั้งชาตินั้น ถือเป็นการก้าวก่ายหรือไม่?”

 โดย... 

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ