คำถามที่เรา (ไม่) เรียนรู้จากวิกฤตเศรษฐกิจ

คำถามที่เรา (ไม่) เรียนรู้จากวิกฤตเศรษฐกิจ

ปัญหาวิกฤติเงินเฟ้อที่เวเนซุเอล่า และการขาดแคลนสินค้าอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนชาวเวเนซุเอล่า

จนทำให้ชาวเวเนซุเอล่าจำนวนมากต้องพากันเดินเท้าอพยพออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองในอดีตของเวเนซุเอล่าว่า ได้ดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดมาอย่างไรบ้างจนทำให้ประเทศต้องประสบกับปัญหาที่ใหญ่โตได้ขนาดนี้ เพราะว่าเราอยู่ในฐานะที่ได้เห็นถึงผลพวงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายเหล่านั้นแล้ว แต่ประเด็นคำถามที่สำคัญมากกว่านั้น ก็คือการตั้งคำถามเชิงสมมติว่า ถ้าตัวเราเองตกอยู่สถานการณ์เดียวกับที่นักการเมืองในอดีตเหล่านั้นเผชิญแล้ว เราจะสามารถตัดสินใจเลือกนโยบายที่ดีกว่าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ก่อนที่จะได้วิเคราะห์ประเด็นคำถามดังกล่าวนี้ในรายละเอียด ผู้เขียนขอกล่าวถึงสาเหตุที่มาของปัญหาในประเทศเวเนซุเอล่า ซึ่งผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่ง ในคอลัมน์นี้เมื่อ 2 ปีก่อน (30 พ.ค.2559) ดังนี้ 

ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่สูงนั้น ประเทศเวเนซุเอล่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมาก ได้พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ และยังได้ดำเนินนโยบายที่มุ่งส่งเสริมให้รัฐเป็นเจ้าของกิจการการผลิตหลายประเภทแทนเอกชน อาทิ อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมธนาคาร และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการแข่งขัน ทำให้ประเทศเวเนซุเอล่าเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง ต่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบคิดเป็นถึง 96% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ 

นอกจากนี้ ประเทศเวเนซุเอล่ายังได้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (multiple exchange rates) เพื่อต้องการอุดหนุนภาคการผลิตบางอย่างเป็นกรณีพิเศษ แต่กลับกลายเป็นยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะได้ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตจากความต่างของอัตราแลกเปลี่ยนและปัญหาตลาดมืด ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2015 นั้น ประเทศเวเนซุเอลาได้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน 3 อัตราพร้อมกัน อัตราแลกเปลี่ยนอันแรก เรียกว่า อัตราแลกเปลี่ยนทางการ (official rate) ซึ่งเป็นอัตราที่กำหนดให้สกุลเงินในประเทศมีค่าสูงกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งใช้สำหรับสินค้าที่รัฐบาลกำหนดว่าเป็นสินค้าที่จำเป็น จึงเท่ากับว่าเป็นการให้การอุดหนุนพิเศษแก่การนำเข้าสินค้าจำเป็นเหล่านั้นนั่นเอง 

เพราะสินค้านำเข้าที่จำเป็นเหล่านั้นจะมีราคาที่ถูกมาก เมื่อคิดเป็นสกุลเงินในประเทศ ต่อมาในเดือน ก.พ. 2015 รัฐบาลได้ทำการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ให้เหลือ 2 อัตรา โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดปัญหาการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังมีปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้แลกเปลี่ยนได้จริงๆ ในตลาดจึงยังคงแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนทางการเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่สูงนั้น รัฐบาลก็ได้ดำเนินโครงการด้านการพัฒนาสังคมที่เป็นโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยหวังจะช่วยลดปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ จนกลายเป็นภาระทางการคลังมากขึ้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากนั่นเอง

กลับมาที่คำถามที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้แต่แรกว่า หากตัวเราเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันในอดีต เราจะสามารถดำเนินนโยบายได้ดีกว่าไหม คำตอบคือมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะไม่มีใครในช่วงนั้นเลยที่จะคิดได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะตกลงได้มากในอีกไม่กี่ปี และถึงแม้ว่าอาจมีคนมาเตือนล่วงหน้า เราก็อาจไม่เชื่อ อุปมาอุปไมยได้กับ ปลาที่ว่ายในน้ำ แม้จะเห็นภัยจากนกเหยี่ยวที่บินวนอยู่เหนือน้ำก็ตาม แต่ปลาก็จะเห็นภาพนกเหยี่ยวที่บินนั้นอยู่สูงกว่าเป็นจริงเสมอ ซึ่งเป็นหลักการของการหักเหแสงที่วิ่งผ่านจากน้ำไปสู่อากาศตามเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมปลายนั่นเอง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า แม้เราจะรู้ถึงภัยเศรษฐกิจที่จะตามมา เราก็อาจจะยังลังเลที่จะเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น โดยเข้าใจเองว่า มันยังไกลจากความเป็นจริงนั่นเอง

อาจมีกรณียกเว้นได้ ในกรณีของปลาที่เคยถูกโจมตีโดยนกเหยี่ยวมาก่อน แต่โชคดีที่หลุดรอดภัยมาได้ ปลาก็จะมีความเกรงกลัวนกเหยี่ยวมากกว่าปลาที่มีวัยวุฒิทางการเมืองที่ละอ่อนกว่า อุปมาอุปไมยซ้อนเข้าไปอีกครั้ง ก็คือกรณีของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันหรือนายแพทย์มหาเธร์ ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2540 จึงไม่แปลกใจที่เขาจะรีบออกมาประกาศทบทวนโครงการกู้เงินเพื่อการพัฒนาต่างๆ โดยให้เหตุผลว่า เขาปฏิเสธ ที่จะเป็นอาณานิคมหนี้สินของจีนในเกือบทันทีที่เขาเข้ามารับตำแหน่งครั้งใหม่นี้ ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจจับตาดูต่อไปอย่างยิ่งว่า ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป