การเป็นม้าลายของมหาวิทยาลัยในยุค 4.0

การเป็นม้าลายของมหาวิทยาลัยในยุค 4.0

ใครมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วงก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ไม่ต่างอะไรกับการยื่นมือมารับเผือกร้อน

 เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้ว อัตราการเกิดที่ลดลงจนทำให้ยอดนักศึกษาหดหายไปทุกปี ทำให้การแข่งขันฟาดฟันกันมัน แสนจะดุเดือด ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชนงัดกลยุทธ์สารพัดมาสู้กันยิบตา เป็นไปได้ว่า ช่วง 10 ปีข้างหน้า จำนวนมหาวิทยาลัยในไทยอาจจะเหลือแค่ 2 ใน 3 ของวันนี้

เรื่องตลกร้ายก็คือ มหาวิทยาลัยหลายแห่งสร้างความแตกต่างด้วยการคิดเหมือนกันว่าจะมุ่งสร้างผู้ประกอบการ จัดหลักสูตรระยะสั้น จับมือกับภาคธุรกิจ ส่งเสริมการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม

ความพยายามสร้างความแตกต่างแบบนี้ คงจบลงด้วยการแข่งกันเหมือนเดิม เปรียบได้กับฝูงม้าลายที่แย่งกินน้ำในหน้าแล้ง พอบ่อนี้ไม่มีน้ำพอ ก็ย้ายไปบ่อใหม่ ประเด็นก็คือ ม้าลายทุกตัวก็หาบ่อน้ำใหม่เหมือนกัน และมักจะไปทางเดียวกันเสียด้วย สุดท้ายถึงเจอบ่อใหม่ ม้าลายทุกตัวแย่งกันกินน้ำ เลยกลับเข้าอีหรอบเดิม ไปไม่รอดอีก การหาบ่อน้ำ มันต้องใช้แรง ขืนวิ่งหาบ่อหน้าใหม่บ่อยๆ ก็มีสิทธิหมดแรงตายได้

นอกจากนี้แล้ว การแข่งกันไปจับตลาดใหม่ มันไม่ใช่การวิ่งแข่งที่ยุติธรรม ใครมีทุนเดิม มีชื่อเสียงภาพลักษณ์ดีกว่า ย่อมได้เปรียบ ใครที่เคยเป็นไก่รองบ่อนในสนามเดิม พอไปสนามใหม่ก็ยังเป้นไก่รองบ่อนอยู่ดี

ที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดมหาวิทยาลัยบางแห่งถึงไม่ฉุกคิดว่า กลยุทธ์ที่เหมือนกับคนอื่น มันก็คือการไม่มีกลยุทธ์นั่นเอง

บางทีอาจเป็นเพราะการเลือกกลยุทธ์เป็นการเลือกบนพื้นฐานของความกลัว กลัวว่านักศึกษาจะน้อย กลัวว่ารายได้จะไม่พอ กลัวว่าถ้าไม่ทำตามกระแส ก็จะตกกระแสจนไปไม่รอด

ความจริงแล้ว การคิดแบบนี้อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในที่สุด ยิ่งกลัวก็ยิ่งไม่กล้าเสี่ยง เลยเลือกเส้นทางที่ดูสมเหตุสมผลที่สุด ไม่กล้าทำอะไรแหวกแนว ไม่กล้ายืนหยัดในตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ยิ่งกลัวยิ่งอยากจะควบคุม เลยหันมาใช้ตัวชี้วัดเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแตกแถว ทุกคนจะได้เดินหน้าไปในทางเดียวกัน

พอบวกกับข่าวสารเกี่ยวกับยุค 4.0 ที่ออกมาตอกย้ำกันอยู่เสมอว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คน คนจะเรียนด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งมหาวิทยาลัย นายจ้างสนใจทักษะมากกว่าปริญญา เลยทำให้แตกตื่นหนักเข้าไปอีก

ประเด็นก็คือยุค 4.0 แบบที่พูดถึงก่อนหน้านี้เป็นแค่ครึ่งเดียวของทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ มนุษย์จะโหยหากันมากขึ้น เวลาเราอกหัก หุ่นยนต์มากอดเราจะดีขึ้นไหม? ถ้าเลือกได้ระหว่างภาพวาดของ อ.เฉลิมชัย กับภาพที่หุ่นยนต์วาดแล้วสวยเหมือนกัน เราจะเลือกอะไร? เวลาเด็กเรียนไม่รู้เรื่องจนร้องไห้ อะไรจะดีกว่า ระหว่างครูที่รักเด็กด้วยหัวใจ กับหุ่นยนต์ที่โปรแกรมมา?

เรากำลังอยู่ในช่วงที่อนาคตไม่ชัดเจน ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าโลกข้างหน้าหน้าตาเป็นยังไง เห็นอนาคตไม่ชัดเจน การมุ่งหน้าไปทางเดียวประหนึ่งว่ารู้ดีแล้วว่าทางไหนดีที่สุด มันคือการเสี่ยงเชื้อเชิญความเสี่ยงระดับปรมัตถ์ให้เข้าประตูบ้าน

ยุค 4.0 ทุกศาสตร์สำคัญเท่ากัน ต้องจับมือกันให้เป็น เพราะเรากำลังก้าวไปสู่โลกที่ทางเลือกในการแก้ปัญหามีหลายวิธี เราอาจเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ตรวจการลักลอบทำลายป่า หรือเราอาจเลือกการให้ชุมชนบวชป่าก็ได้

สมการโลกยุค 4.0 คือ พลังคิดของหุ่นยนต์ + พลังหัวใจของคน ซึ่งมันสามารถเท่ากับอะไรก็ได้ เมื่อมันเป็นอะไรก็ได้ โอกาสของมหาวิทยาลัยคือ การหาประโยชน์จากความเป็นไปได้ทั้งหมด การจะคว้าได้จะมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับจำนวนความพยายามในการลองผิดลองถูก กับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างความแตกต่าง

แต่ความแตกต่างไม่ได้อยู่ที่อาคารสวยหรู ห้องเรียนทันสมัยเต็มไปด้วยเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้สามารถลอกเลียนแบบกันได้ สิ่งเดียวที่ลอกเลียนแบบกับไม่ได้ คือ คน ไม่มีอาจารย์ประวัติศาสตร์คนไหนเหมือนกัน ไม่มีอาจารย์สอนเขียนโปรแกรมคนไหนเหมือนกัน ไม่มีอาจารย์เศรษฐศาสตร์คนไหนเหมือนกัน และมันไม่คุ้มค่าที่จะสร้างหุ่นยนต์ตัวหนึ่งขึ้นมาแทนอาจารย์แต่ละคนที่มีบุคลิกต่างกัน

การลองผิดลองถูก การเปิดโอกาสให้คน ให้คณะได้หาทางเข้าสู่ 4.0 ด้วยตัวเอง มันบีบหัวใจกว่าการปิดคณะ การรวมคณะเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเห็นแม้จะผลระยะสั้น แต่ก็กัดกร่อนรากฐานการเติบโตในระยะยาว การใช้คนเป็นฐานในการสร้างความแตกต่างและปรับตัวจะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีจุดยืนของตนเองในโลก 4.0 ทางเลือกนี้ไม่ได้รับประกันความสำเร็จเต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้มหาวิทยาลัยไปได้ไกลกว่าการเป็นม้าลาย