“เฟสบุ๊ค”สังคมผู้สูงอายุ แห่งยุคดิจิทัล

“เฟสบุ๊ค”สังคมผู้สูงอายุ แห่งยุคดิจิทัล

หลายปีก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับเดโมกราฟิกของผู้ใช้งานสื่อต่างๆ

และได้กล่าวถึงอายุมัธยฐานของผู้รับชมโทรทัศน์แห่งนานาอารยประเทศ ที่สูงเกินกว่า 50 ปีมานานแล้ว และในบางประเทศกำลังจะก้าวล่วงเลย 60 ปีไปด้วยซ้ำ

ในบทความนั้น ผู้เขียนยังได้กล่าวถึง การที่สื่อใหม่แห่งยุคดิจิทัลได้พลิกผันมาเป็นศูนย์รวมของผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 18 - 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ของการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีมูลค่าทางสื่ออย่างยิ่งใหญ่มหาศาล และความสำคัญที่จะลดลงไปของโทรทัศน์ และ สื่อดั้งเดิมอื่นๆ

พอมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือวันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวทันนานาอารยประเทศ สื่อดิจิทัลได้พลิกผันมาเป็นสื่อกระแสหลักของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ โทรทัศน์และสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ได้เริ่มเปลี่ยนไปเป็นอดีต

อย่างไรก็ตาม นานาอารยประเทศก็มิได้หยุดยั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อสื่อโซเชียลมีเดียอันทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟสบุ๊ค ได้เริ่มสูญเสียผู้ใช้งานในกลุ่มเยาวชน ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ ได้กลับกลายมาเป็นผู้ใช้งานหลักของเฟสบุ๊ค

จากข้อมูลวิจัยล่าสุดของ สำนักวิจัยพิว ค้นพบว่า 44% ของเยาวชนอเมริกันอายุ 18 - 29 ปี ได้ลบแอปของเฟสบุ๊คออกจากสมาร์ทโฟนของตัวเอง ใน 12 เดือนที่ผ่านมา

เทรนด์ของการสูญเสียผู้ใช้งานในระดับเยาวชนของเฟสบุ๊ค มิได้เพิ่งมาเริ่มต้นจากแคมเปญ #DeleteFacebook ซึ่งมาจากความกังวลในนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเฟสบุ๊คที่เคยเป็นข่าวคราวอยู่หลายครั้ง หรือปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เฟสบุ๊คยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยด้านพฤติกรรมซึ่งเป็นความต้องการโดยพื้นฐานของเยาวชน ที่ส่วนหนึ่งไม่ต้องการอยู่ร่วมในสังคมออนไลน์เดียวกับบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่

เยาวชนในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ในขณะที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ก็ย่อมต้องเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า ต่อไปในอนาคตหากเทรนด์ดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงเฟสบุ๊คก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้จะส่งผลต่อมูลค่าสื่อของเฟสบุ๊คมากน้อยเพียงใดเป็นสิ่งที่สมควรต้องติดตามดู ในครั้งนี้มีปัจจัยที่แตกต่างกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเสื่อมถอยในอิทธิพลของสื่อดั้งเดิมเช่นโทรทัศน์ เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่ออัตราการเกิดของประชากรรุ่นใหม่มีสัดส่วนที่ลดน้อยถอยลงไปจากในอดีต

กลุ่มเป้าหมายหลัก ของการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีมูลค่าทางสื่ออย่างยิ่งใหญ่มหาศาล ในไม่ช้านี้ อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ ได้เกิดมาน้อยอย่างที่ผิดความคาดหมาย

อย่างไรก็ตาม เยาวชนในต่างประเทศ มิได้ถอนตัวออกจากโซเชียลมีเดียและสังคมออนไลน์แต่อย่างใด เพียงแต่ได้เปลี่ยนจากเฟสบุ๊คไปเป็นอย่างอื่น ที่มีตั้งแต่ สแนปแชต ยูทูบ อินสตาแกรม ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่ยากที่บริการเหล่านี้จะขึ้นมาทดแทนเฟสบุ๊คได้ในอนาคต และเป็นสิ่งที่ยากที่จะคาดคะเนว่า อะไรจะเป็นสิ่งที่จะมาครองใจเยาวชนในปัจจุบันหรือผู้ใหญ่ในอนาคต เมื่อเฟสบุ๊คได้กลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุแล้ว

ดังนั้น วิถีชีวิตของนักการตลาดยุคดิจิทัลอาจต้องมาถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากเดิมที่ทุกคนต้องทำ SEO มาสู่การตลาดบนเฟสบุ๊ค แต่เมื่อเยาวชนรุ่นใหม่ต่างแสวงหาสิ่งที่แตกต่างนักการตลาดก็ต้องไหวตัวและปรับปรุงอย่างทันท่วงที เว้นแต่ว่า สังคมผู้สูงอายุคือกลุ่มเป้าหมายที่ปลายทาง