ส่องร่าง พระราชบัญญัติข้าวฉบับสนช.

ส่องร่าง พระราชบัญญัติข้าวฉบับสนช.

สมาชิกสภานิติบัญญัติติแห่งชาติ(สนช.) จำนวน 25 คน ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ข้าวพ.ศ. ... ต่อ สนช.

ตามบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อสังเกตดังนี้

1 มีบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อนหรือก้าวล่วงกับกฎหมาย(กม.)ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายฉบับ การตรากฎหมายที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน อาจสร้างความสับสนให้ผู้ประกอบการผู้อยู่ในบังคับของกฎหมาย ว่าจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร และอาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการตามกฎหมายที่ไม่เป็นไปอย่างมีเอกภาพหรืออาจเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการเกินความจำเป็น คือ

1.1 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ(คกก.)ข้าว ตามมาตรา12ใน (2) ที่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ใน (ข) การจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าว และใน(ค) การควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวฯ และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าว และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามมาตรา 24 - 29 ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518

1.2 บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข การจำหน่ายข้าวและผลพลอยได้ การสำรอง การกำหนดราคาขายข้าว ซ้ำซ้อนกับกฎหมายว่าด้วยการ การค้าข้าวกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

1.3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการลักลอบนำข้าว ข้าวเปลือกตามมาตรา 32 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและทำลายข้าวดังกล่าว เป็นการซ้ำซ้อนกับกฎหมายศุลกากรและกฎหมายการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และเกินกว่าอำนาจตามกฎหมายศุลกากร การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจทำลายข้าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เสมออำนาจของศาล เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะพิพากษาให้ริบทรัพย์ที่ได้มาจากกการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินหรือทำลายทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นบทบัญญัติที่การก้าวล่วงต่ออำนาจตุลาการ

1.4 บทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกต้องออกใบรับซื้อข้าวและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด และต้องเก็บหลักฐานไว้เป็นเวลา 5 ปี น่าจะเป็นภาระแก่ผู้ซื้อข้าวเปลือก โดยไม่มีความชัดเจนว่าเก็บไว้เพื่อประโยชน์อันใดและซ้ำซ้อนกับกฎหมายการบัญชี กรณีผู้ประกอบการเข้าข่ายมีหน้าที่ต้องทำบัญชี ซึ่งจะต้องเก็บเอกสารประกอบการทำบัญชีไว้ 5 ปีอยู่แล้ว

บทบัญญัติดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหากับวงจรกิจการซื้อขายข้าวเปลือกจากชาวนา ที่อาจสะดุดไม่ราบรื่น อาจมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และคงมีการผลักภาระไปให้ชาวนา

1.5 ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้นำ บรรดากฎหมาย กฎกระทรวงระเบียบหรือประกาศ ซึ่งเกี่ยวกับข้าว ที่มีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ ยังใช้บังคับต่อไปได้ จนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องเดียวกัน ตาม พ.ร.บ.นี้ออกใช้บังคับ เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีผลใช้บังคับได้ เพราะ พ.ร.บ.นี้ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจนำบทบัญญัติตามกฎหมายอื่นมาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.นี้ และก็ไม่มีอำนาจไปลบล้างบทบัญญัติของกฎหมายอื่นด้วย

2 บทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ คือผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวนา ศูนย์ข้าวชุมชนผู้รับซื้อข้าวเปลือก ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้รับจ้างทานา ผู้ดำเนินการรับจ้างฉีด พ่น หรือหว่านวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวะภัณฑ์ หรือสารปรับปรุงดิน ให้แก่ชาวนา รวมทั้ง เครือข่ายชาวนา แหล่งรวบรวมข้าวโรงสีข้าว ต้องมาขึ้นทะเบียน น่าจะเป็นการเพิ่มขั้นตอน เพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไรกับผู้จดทะเบียน และจะก่อประโยชน์อย่างไร เพื่ออะไร นอกจากนี้ การประกอบการบางรายการมีกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่นการรวมกลุ่มชาวนาเป็นไปตามกฎหมายสหกรณ์ กิจการโรงสีต้องขออนุญาตตามกฎหมายควบคุมโรงงานและกฎหมายการค้าข้าว

สำหรับผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้าวเปลือก ไม่มีผู้ใดประกอบกิจการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกอย่างเอกเทศ แต่เป็นเรื่องภายในของผู้รับซื้อข้าวเปลือกหรือโรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือก ที่อาศัยความชำนาญประสบการณ์ส่วนบุคคลมาตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกที่รับซื้อ

อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา16 กว้างมาก หากไม่กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน อาจมีผู้ใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งอาจมีผลกระทบเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ อาจมีผลกระทบเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ การค้าข้าวในขั้นตอนการค้าต่างฯได้

คณะกรรมการข้าว ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มี คกก.ข้าว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน องค์ประกอบประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 21 คน ผู้แทนเครือข่ายชาวนาไม่เกิน 5 คน ผู้แทนภาคเอกชน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าวซึ่งก็คืออธิบดีกรมข้าวเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในมาตรา12 มาตรา 12/1 แต่ที่เป็นอำนาจพิเศษ คือ อำนาจตามมาตรา 13 ในกรณีที่ คกก.เห็นว่าผู้ประกอบการ เช่น ศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ผู้รับจ้างทำนา โรงสี ฯลฯ กระทำหรืองดเว้นกระทำการอันใดเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้หรือกฎหมายอื่น หรือระเบียบประกาศฯ คณะกรรมการอาจสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำนั้นในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดด้วยก็ได้

อำนาจของ คกก.ตามมาตรา 13 ไม่ได้บัญญัติสภาพบังคับไว้ หากผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม จึงไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่กลับเป็นการสร้างอำนาจตุลาการให้คณะกรรมการ ที่เป็นการก้าวล่วงต่ออำนาจตุลาการ

5 ความเห็น

5.1 จากข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีปัญหาว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ สอดคล้องและชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 หรือไม่

5.2 คณะกรรมการข้าวตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่มีผู้บริหารและหน่วยงานด้านการปลูกการผลิตข้าวเป็นฝ่ายเลขานุการ หากทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ เน้นเรื่องนโยบายและการบริหารจัดการข้าวด้านส่งเสริมการปลูกการผลิตข้าว ให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาของชาวนา ที่สำคัญ คือ การมีเนื้อที่เพาะปลูกจำกัด แม้ราคาข้าวจะสูงมากแค่ไหน แต่ผลผลิตรวมไม่มาก รายได้รวมก็ไม่มากพอที่จะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ ต้องหาทางเพิ่มผลิตต่อไร่ให้สูง ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการผลิตใช้ปุ๋ยหมัก ลดการใช้สารเคมีใช้สารตามธรรมชาติแทน พัฒนาพันธ์และส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวที่เป็นความต้องการของตลาด เช่นข้าวนุ่ม โดยมีมาตรการเมื่อนำไปขายแล้วต้องรับซื้อและให้ราคาแยกเป็นข้าวนุ่ม ไม่ใช่เหมารวมเป็นข้าวทั่วไป เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ชาวนาเพื่อป้องกันและลดการถูกโกงตาชั่ง ความชื้น ส่วนผสมพื้นข้าว เพิ่มช่องทางให้ชาวนาได้เข้าถึงข่าวสารการค้าข้าว การเคลื่อนไหวของราคาข้าวฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติที่ไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ให้สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยปกป้องชาวนาให้เต็มที่ ให้สมเจตาที่ต้องการช่วยชาวนาก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น