ตัววัดความเป็น 4.0

ตัววัดความเป็น 4.0

ภาครัฐ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็น 4.0 ผ่านทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่อยู่ในใจหลายๆ คนคือ แล้วปัจจุบันประเทศไทยอยู่ตรงไหน? อีกทั้งจากความพยายามของคนไทย จะทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้ความเป็น 4.0 หรือยัง? ดังนั้น คำถามหนึ่งที่น่าคิดคือ เราจะวัดความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของเราในการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างไร?

เป็นที่ทราบดีว่า ต้นกำเนิดของ คำว่า 4.0 ที่ใช้กันไปทั่วโลกนั้นมาจากงานเขียนของ Klaus Schwab ประธาน World Economic Forum (WEF) ที่นิยามศัพท์ คำว่า อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) ขึ้นมา และประจวบกับทาง WEF ก็กำลังจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดและประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใหม่ ดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ซึ่งเริ่มสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 2004 กำลังจะถูกปรับโฉมใหม่ในปีนี้ ซึ่งทาง WEF จะนำรูปแบบของ GCI แบบเดิม และเพิ่มเติมในความเป็น 4IR เข้าไปเพื่อให้สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ภายใต้บริบทของ 4IR

ดังนั้นอาจจะถือได้ว่า รายงานขีดความสามารถทางการแข่งขันของ WEF ที่จะออกมาในปีนี้อาจจะเป็นตัววัดที่ดี ที่จะบอกได้ว่า ถ้าพิจารณาภายใต้บริบทและกรอบของความเป็น 4.0 แล้ว ขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาของประเทศต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง และอาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นว่า เราเองเดินทางมาถึงจุดไหนของการก้าวสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0

เพื่อสะท้อนภาพความเป็น 4.0 ให้ชัดเจน รายงาน GCI ฉบับใหม่ จะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับอนาคตมากขึ้น ความสามารถของประเทศในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแแปลงที่เกิดขึ้น และความยืดหยุ่น (Agile) ขณะเดียวกันเรื่องของนวัตกรรมก็จะทวีความสำคัญขึ้น โดยจะมองทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางด้านนวัตกรรมของประเทศ ตั้งแต่ด้านการวิจัยและพัฒนา การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ความยืดหยุ่นในการปรับตัว การยอมรับฟังและเปิดรับต่อความคิดเห็นใหม่ๆ ความพร้อมที่จะทำงานร่วมกันของแต่ละภาคส่วน รวมกระทั่งถึงความกล้าที่จะเสี่ยง อีกทั้งภายใต้ตัววัดความเป็น 4.0 นั้น จะไม่ได้มองว่านวัตกรรมเป็นเพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ แต่จะครอบคลุมในทุกรูปแบบทั้ง Business models และ Organizational models ใหม่ๆ

ภายใต้บริบทของความเป็น 4.0 นั้น เรื่องของทุนมนุษย์หรือ Human capital เป็นเรื่องที่ทาง WEF ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และมีการแยกไว้อย่างชัดเจนระหว่างตลาดแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน กับการสร้างทักษะในที่จำเป็นสำหรับแรงงานในอนาคต จะมีคำถามใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีทักษะที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจได้หรือไม่? หรือ องค์กรธุรกิจสามารถที่จะหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่สำคัญในการทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้หรือไม่? หรือ ประชากรของประเทศมีทักษะทางด้านดิจิทัลอย่างเพียงพอหรือไม่? หรือแม้กระทั่งถามถึงว่าในระบบการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสอนเพื่อสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) มากน้อยเพียงใด?

สำหรับในเชิงธุรกิจนั้น ตัววัดทางด้าน 4.0 ใหม่ ก็มีหลายๆ คำถามที่น่าสนใจ อาทิเช่น บริษัทที่มีนวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ๆ สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเพียงใด? หรือ บริษัทในประเทศมีความยอมรับและความกล้าที่จะเสี่ยงหรือเป็นผู้ Disrupt มากน้อยเพียงใด?

ตัววัดตามเกณฑ์ 4.0 ของ WEF นั้นอาจจะไม่ได้วัดความเป็น 4.0 ได้อย่างแม่นยำ 100% แต่ก็พอจะสะท้อนภาพให้เห็นว่า เมื่อนำหลักการและเกณฑ์ของความเป็น 4.0 มาจับและอ้างอิงแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรบ้างกัน ในช่วงกลางตุลาคมนี้ ทาง WEF จะประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ตามแนว 4.0 ขึ้นมา ซึ่งถึงตอนนั้นคงจะต้องจับตาดูกันล่ะครับว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง