หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการ ‘ลงทุน’

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการ ‘ลงทุน’

วิธีคิดแบบมั่วๆ ว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คือ “ภาระ” ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว นี่คือ การลงทุนเพื่อประชาชน

ผมคิดว่า ความเข้าใจผิดที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบาย “30 บาทฯ” คือ

-นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” คือ นโยบายสำหรับ “คนจน” เท่านั้น

-คนจน”ส่วนใหญ่ ป่วยเพราะกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ดูแลสุขภาพ

-โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่สิ้นเปลืองงบประมาณ

ที่เห็นได้ชัดก็คือ ความเห็นล่าสุด จากกระทรวงการคลัง ซึ่ง “โยนหินถามทาง” ขึ้นมา ให้คนที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาทต่อปี จ่ายค่ารักษาพยาบาล 10% และมากกว่านั้น อาจจ่ายสูงถึง 20%

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่มาที่ไปของนโยบายนี้ไม่ใช่การ สงเคราะห์หากแต่รัฐดูแล สวัสดิการให้ประชาชน

1.คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต้นเรื่องเห็นว่า ในชนบทมีคนที่ ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ประเภท ขายวัว ขายควาย ขายบ้าน เพื่อรักษาตัวจากโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมาก ที่เศร้าไปกว่านั้น คือ หลายคน เลือกที่จะไม่รับการรักษา เพราะกลัวจะต้องจ่ายแพง

2.ในต่างประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นในฐานะรัฐสวัสดิการ กล่าวคือ เมื่อประชาชนจ่ายภาษีให้รัฐ รัฐก็มีหน้าที่ดูแลสุขภาพ ดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ประชาชน

หากประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ประชาชนก็มีกำลังในการทำงานมากขึ้น ประเทศก็มีศักยภาพในการพัฒนามากขึ้น

3.ข้อเท็จจริงก็คือ งบประมาณสาธารณสุขในแต่ละปี รวมสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคม ต่อให้สูงแค่ไหน ก็อยู่ราว 10% นิดๆ ของงบประมาณแผ่นดิน หรือ 4.6% ของ GDP เท่านั้น เอาจริงๆ หาก GDP โตขึ้น ก็ยังมีช่องว่างให้เติมงบประมาณได้อีก

หรือจะให้ชัดกว่านั้น ปี 2562 งบประมาณแผ่นดิน ที่เพิ่งผ่าน สนช.ที่ 3 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณด้านสาธารณสุข เพียง 2.6 แสนล้านบาท แพ้งบประมาณของกระทรวงศึกษา ที่สูงกว่า 4.9 แสนล้านบาทไปหลุดลุ่ย และแพ้แม้กระทั่งงบด้าน “ความมั่นคง” ที่อยู่แถวๆ 3.2 แสนล้านบาท

ประเด็นก็คือ ในระยะหลัง งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดูจะกลายเป็นมายาคติ ที่ทำให้หลายคน เห็นเป็น “ภาระ”

ไม่ใช่กระทรวงการคลังอย่างเดียว แต่ข้าราชการ ชนชั้นกลาง ต่างก็มองว่า ทำไมต้องใช้ภาษีจำนวนมากเพื่อดูแล “คนจน”

หรือแม้แต่บุคลากรในวงการสาธารณสุขเอง ก็รู้สึกว่า ทำไมต้องมาให้บริการ ต้องมาทำงานหนักขนาดนี้ โดยที่รัฐจ่ายงบประมาณลงมาอย่างจำกัดจำเขี่ย จะเบิกแต่ละทีก็ยากเหลือเกิน

แต่คำถามก็คือ การจ่าย 10% นั้นถูกแล้วหรือ เช่น ถ้าคุณป่วยต้องผ่าตัด บิลค่ารักษามา 3 ล้านบาท คุณต้องจ่าย 3 แสน อันนี้โอเคหรือไม่ แล้วถ้าคุณป่วยมะเร็ง รักษายาวๆ จะทำอย่างไร?

แต่คำถามก็คือ เราต้องการพัฒนาระบบนี้ให้ดี เพื่อให้ ทุกคนสามารถใช้ระบบนี้ได้ หรือเราต้องการให้ระบบนี้ เป็นไปเพื่อ คนจน แบบที่คุณประยุทธ์เคยแสดงความคิดเห็น แบบที่กระทรวงการคลังออกมาเปรยๆ

และคำถามที่ตามมาอีกก็คือ คนจน (ตามฐานข้อมูลที่ลงไว้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11 ล้านคน) นั้น พวกที่ป่วย คือ คนกินเหล้าสูบบุหรี่หรือไม่ และหากเขากินเหล้า เขาสูบบุหรี่จนป่วย รัฐมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ ที่ปล่อยให้เขาตกอยู่ในสภาพแบบนั้น

หรือพูดให้กว้างกว่านั้นก็คือ ภายใน 10 ปีมานี้ รัฐบาลได้ช่วยเหลือ “คนจน” ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ภาคบริการ อย่างไร และมีนโยบายอะไร มีความหวัง มีโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งทุนหรือไม่

หากไม่มี การที่เขายังจนอยู่ ผมคิดว่ารัฐก็ควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ คือ ให้สวัสดิการที่ไม่สิ้นเปลืองมากกับพวกเขาเหมือนกัน

ผมคิดว่า ทางเลือกแรกคือ เราควรจะจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณแผ่นดิน และการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขใหม่หรือไม่ ให้อยู่ในปริมาณที่พอจะให้สวัสดิการคนทุกระดับได้ (ซึ่งยังมีช่องว่างให้เกลี่ยเพิ่มอีกพอสมควร) แต่ยังไม่มีใครกล้าหาญประกาศเป็นนโยบาย หรือสนใจเรื่องพวกนี้มากพอ

อย่างไรก็ตาม หากคำตอบสุดท้ายคือ เราต้องมุ่งสู่ ร่วมจ่ายเพราะงบประมาณไม่พอ เพราะโรงพยาบาลขาดทุน เพราะบุคลากรทำงานหนัก มันก็ยังมีแนวทางร่วมจ่ายอีกมาก

ไม่ว่าจะร่วมจ่ายผ่านภาษีเงินได้ประจำปี ร่วมจ่ายเป็นแพคเกจต่างๆ เหมือนที่ประกันเอกชนทั้งหลายทำ แต่จะให้ร่วมจ่าย ณ ที่จ่าย มันดูจะโหดร้ายเกินไปหน่อย

อย่าลืมนะครับว่า เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มา 17 ปี มีคนรอดพ้นจากภาวะล้มละลายเป็นล้านๆ คน และกลายเป็นประเทศต้นแบบของสหประชาชาติ (ที่รัฐบาลชุดนี้ก็เอานโยบายนี้ไปเร่ขายเองทั้งที่นิวยอร์ค ทั้งที่เจนีวา) จนหลายๆ ชาติมาดูงาน รัฐบาลชุดนี้ก็ยิ้มแก้มปริเวลาเขามาชื่นชม

หากจะเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า จะไม่ใจร้ายไปหน่อยหรือครับ?

 

โดย... 

สุภชาติ เล็บนาค

นักศึกษาปริญญาโท 

มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย