สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม

สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวของสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม

ซึ่งเป็นการริเริ่มขององค์กรภาครัฐ นำโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงขอนำประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในงานดังกล่าว มาเผยแพร่ต่อผู้สนใจผ่านคอลัมน์ในสัปดาห์นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องของอนาคตศาสตร์ และภาคเอกชนที่ต้องการเครื่องมือใหม่ๆ ที่ใช้สำหรับมองอนาคตของธุรกิจของตน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ลงมาถึงธุรกิจในระดับสตาร์ทอัพ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ให้คำชี้แจงว่า เป้าหมายของการจัดตั้ง สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นสถาบันเฉพาะทางในการพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์ทิศทางนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยทั่วไปในอนาคต

สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Innovation Foresight Institute หรือ IFI โดยให้ความสนใจเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือการมองอนาคต ที่เรียกว่า Foresight มาเพื่อมองภาพอนาคต ทั้งในด้านของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของไทย

เครื่องมือ Foresight แม้ว่ายังจะไม่มีการตั้งชื่อเฉพาะเป็นภาษาไทย แต่มีการใช้คำที่เป็นกลางว่า เป็นเครื่องมือ “การมองอนาคต” มาเรียกแทน แม้ในวงการของการศึกษาด้านอนาคตศาสตร์ จะมีเครื่องมืออื่นๆ นอกจาก Foresight ที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถนำมาใช้ในการ “มองอนาคต” ได้เช่นกัน

เครื่องมือ Foresight ใช้หลักสำคัญในการมองอนาคต โดยกระบวนการที่มีขั้นตอนที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นอนาคตที่ต้องการศึกษา เพื่อให้เข้าใจถึงแรงผลักดันต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแรงผลักดันที่เห็นได้อย่างชัดเจน และจากแรงผลักดันที่ยังไม่เห็นชัดเจน มาประเมินความไม่แน่นอนต่างๆ มาเป็นตัวกำหนดภาพอนาคตขึ้น

การมองอนาคต จะแตกต่างจากการทำนายหรือการพยากรณ์ (Forecast) ที่ได้จากการนำข้อมูลในอดีต มาเปรียบเทียบกับความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วทำนายอนาคตว่า จะเกิดขึ้นในทิศทางตามแนวโน้มที่คล้ายกัน

ในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป Foresight ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงแนวคิดในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

สถาบันการมองอนาคต ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานของสถาบัน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ของไทย และการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยยกระดับความสามารถด้านอนาคตศาสตร์ของประเทศ

ด้านการศึกษาภาพและแนวโน้มอนาคต โดยเฉพาะแนวโน้มที่เป็นประเด็นเป้าหมายในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ติดตามและระบุทิศทางอนาคตของความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการมองอนาคต เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่จะสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย เกิดการใช้เครื่องมือด้านอนาคตศาสตร์ในการวางแผนและออกแบบกลยุทธ์ในระดับองค์กร หรือระดับธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาศูนย์รวมสารสนเทศด้านนวัตกรรมของประเทศ

ซึ่งในยุทธศาสตร์หลักแต่ละด้าน ได้กำหนดเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และกิจกรรมที่จะดำเนินการ ไว้เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานของสถาบันฯ

โดยมีกิจกรรมหรือโครงการที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ การพัฒนาชุดเครื่องมือ (Tools Box) ด้านอนาคตศาสตร์ การสื่อสารและการสร้างการรับรู้ด้านอนาคตศาสตร์ให้กับบุคคลทั่วไป การศึกษาแนวโน้มอนาคต เพื่อพัฒนาภาพอนาคตของประเด็นเป้าหมายในลักษณะของการชี้นำอนาคตแบบมุ่งเป้า (Trend Setting)  

รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมให้นำเครื่องมือมองอนาคตมาประยุกต์ใช้พัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ และการประเมินเพื่อวัดระดับความสามารถทางนวัตกรรมของธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ www.nia.or.th หรือติดตามความคืบหน้าที่จะนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ต่อไปเป็นระยะๆ