ธนาคารไทย จะโตต่อไปอย่างไร?

ธนาคารไทย จะโตต่อไปอย่างไร?

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะได้ยินข่าวที่ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

จากตัวเลข GDP ที่ล่าสุดขยายตัวเกือบจะสูงสุดในรอบ 5 ปี ทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดี ทั้งจากสินเชื่อที่กลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สัดส่วน NPL ก็ยังทรงตัวในระดับเดิม และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อุตสาหกรรมธนาคารถูกเลือกให้เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจที่สุดจาก FETCO Investor Confidence Survey ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แต่ถ้าเราลองเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธนาคารไทย จะพบว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ กลับมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเรา ยกตัวอย่างเช่น กำไรจากดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM) ของธนาคารในอินโดนีเซียเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.85% ในขณะที่ของไทยเฉลี่ยเพียง 2.76% แต่คุณภาพสินทรัพย์กลับด้อยกว่า โดยสัดส่วน NPL เฉลี่ยที่ 2.91% ในขณะที่อินโดนีเซียเฉลี่ยที่ประมาณ 2.6% ในมุมมองสภาพคล่อง สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan-to-Deposit ratio) ของธนาคารในอินโดนีเซียเฉลี่ยที่ 90.8% ก็ถือว่ายังมีสภาพคล่องเหลืออยู่มากเมื่อเทียบกับไทยที่ 96.3% จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ ROE ของธนาคารในอินโดนีเซียเฉลี่ยสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยกว่าเท่าตัว

จึงทำให้เกิดคำถามว่า ตอนนี้ธนาคารไทยถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง แล้วธนาคารไทยจะโตต่อไปอย่างไร

การลดต้นทุนอาจเป็นสิ่งแรกๆที่ธนาคารเลือกที่จะทำเพราะเห็นผลค่อนข้างเร็ว แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะยาวแล้วการเติบโตจากการลดค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช่การเติบโตที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการหาตลาดใหม่ที่การธนาคารรูปแบบเดิมๆยังเข้าไม่ถึง

แล้วตลาดที่ว่านี้มีหน้าตาอย่างไร

ตลาดแรกที่จะขอยกตัวอย่างได้แก่ กลุ่มของคนที่ไม่มีงานประจำ หรือ กลุ่ม Self-employed ซึ่งหากลองเปรียบเทียบดู ตลาดของคนที่มีงานประจำตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่าอิ่มตัวแล้ว ท่านผู้อ่านที่ทำงานประจำน่าจะเคยถูกชวนให้ทำบัตรเครดิตกันจนเบื่อแล้ว แต่กลุ่ม Self-employed ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ แม้จะมีรายรับสูงแต่ก็มักถูกธนาคารปฏิเสธการให้สินเชื่อบัตรเครดิต เพราะธนาคารมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งๆที่ตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนกว่า 13.5 ล้านคน และมีรายได้รวมกันกว่า 2.4 แสนล้านบาท

อีกตลาดหนึ่งที่เรียกได้ว่าใหม่มากสำหรับธุรกิจธนาคารก็คือกลุ่ม SMEs ที่เปิดร้านค้า Online หรือทำธุรกิจ E-Commerce ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อธนาคารจากเงื่อนไขเก่าๆ เช่น ผู้ขายต้องเป็นนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ต้องมีระบบการจัดทำบัญชี และต้องมีสินทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกัน ซึ่งปัจจุบันตลาด E-Commerce แบบ B2C หรือ Business to Customer มีมูลค่ารวมกว่า 9.5 แสนล้านบาท ลองคิดดูนะครับว่าถ้าธุรกิจกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นขนาดไหน

นอกจากการเจาะตลาดใหม่ๆแล้ว ธุรกิจธนาคารยังต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือคู่แข่งใหม่อย่างผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ หรือ Telco ที่มีความได้เปรียบเรื่องการมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย อีกทั้งยังมีฐานข้อมูลมหาศาลที่หากนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก็สามารถกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคารได้ โดยตอนนี้ Telco เริ่มมีธุรกิจโอนเงินข้ามประเทศและในประเทศ และต่อไปหากมีการพัฒนา application บนมือถือให้สามารถทำธุรกรรมอื่นๆได้ Telco ก็จะสามารถรุกธุรกิจธนาคารได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ทันกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับคู่แข่งจากภาคธุรกิจอื่นที่เข้ามารุกธุรกิจธนาคารมากขึ้น จึงเป็นตัวตัดสินว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตต่อไปในอนาคตหรือจะถูกกลืนหายไป!