ขายของออนไลน์ ต้องขึ้นทะเบียนพาณิชย์หรือไม่

ขายของออนไลน์ ต้องขึ้นทะเบียนพาณิชย์หรือไม่

ในอดีต เวลาต้องการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคก็จะต้องออกจากบ้าน เดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า

เพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านค้า ถือว่าเป็นตลาดทางกายภาพ (physical market) ที่จับต้องได้ มองเห็นได้ ต่อมาเมื่อระบบขนส่งก้าวหน้าขึ้น การค้าทางไกลในรูปแบบของรายการสินค้าทางไปรษณีย์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจาก Catalog ที่ถูกส่งมาที่บ้านและชำระเงินในรูปแบบ Cash on Delivery หรือ COD ได้

ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น คำว่าตลาดนั้นได้รวมถึงสถานที่ออนไลน์ การเสนอขายไม่ได้อยู่ในรูปแบบการเสนอขายซึ่งหน้าแล้ว หากแต่เป็นการเสนอขายผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแทน อาจจะเป็นในรูปแบบของเว็บไซต์ที่ทำขึ้นเพื่อขายสินค้าโดยเฉพาะ หรือในรูปแบบของการขายสินค้าผ่าน social media websites ต่าง ๆ เช่น Facebook หรือ Instagram เป็นต้น เมื่อวิธีการค้าเปลี่ยนไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายว่า เมื่อสถานที่และวิธีการทางการค้าเปลี่ยนไป กฎหมายที่ปกติใช้บังคับกับการค้าแบบดั้งเดิม (conventional trade) นั้นมีผลบังคับใช้ต่อการค้าออนไลน์หรือไม่

คนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิดว่า เวลาทำการซื้อ ขาย ของนั้น หากเป็นผู้ค้ารายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทใดๆ นั้น ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนพาณิชย์ต่อกรมธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเนื่องจากผู้ขายของออนไลน์นั้นจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้า

มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 วางหลักให้กิจการอันถือเป็นพาณิชยกิจนั้น ประกอบด้วยกิจการดังต่อไปนี้ การซื้อ การขาย การขายทอดตลาด การแลกเปลี่ยน การให้เช่า การให้เช่าซื้อ การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนค้าต่าง การขนส่ง การหัตถกรรม การอุตสาหกรรม การรับจ้างทำของ การให้กู้ยืมเงิน การรับจำนำ การรับจำนอง การคลังสินค้า การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อ หรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การเครดิตฟองซิเออร์ การโพยก๊วน การประกันภัย และกิจการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจากบทบัญญัติจะเห็นได้ว่า การซื้อ การขาย การแลกเปลี่ยนใดๆ ถือเป็นพาณิชยกิจตามมาตรา 6

นอกจากนี้ คำว่า ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ได้ถูกจำกัดความให้หมายถึง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งประกอบพาณิชยกิจเป็นอาชีพปกติ และให้รวมผู้เป็นหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิด กรรมการ หรือผู้จัดการด้วย ดังนั้นผู้ค้าออนไลน์ที่ขายของมือสองเพียงครั้งคราว ไม่ได้ทำการค้าเป็นอาชีพจึงไม่เข้าข่ายผู้ประกอบพาณิชยกิจ

 เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 11 พ.ศ.2553 มาตรา 5 ประกอบ ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ กิจการนั้นรวมถึงการซื้อ ขาย สินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์นั้นจึงนับเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ได้วางหลักข้อยกเว้นไว้กับธุรกิจดังต่อไปนี้ที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ การค้าเร่ การค้าแผงลอย พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ พาณิชยกิจซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจากข้อยกเว้นนี้จะเห็นได้ การทำธุรกิจออนไลน์นั้นจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ยกเว้นว่าเป็นการทำธุรกิจดังที่กล่าวไปข้างต้น หากไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นแล้วก็จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ทั้งสิ้น

พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ได้กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 19 ว่าหากไม่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้ แสดงรายการเท็จ หรือไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบนั้นจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ ซึ่งหมายความว่าหากผู้ขายของออนไลน์ไม่ไปจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมธุรกิจการค้าแล้วจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และเสียค่าปรับไปวันละ 100 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ

ทั้งนี้คำถามที่มักติดอยู่ในใจของผู้ซื้อก็คือ แล้วถ้าผู้ขายของออนไลน์นั้นไม่ขึ้นทะเบียนพาณิชย์ ผู้ซื้อจะสามารถเรียกร้องใดๆ ต่อผู้ขายในแง่ของการคุ้มครองผู้บริโภคได้หรือไม่ ถ้าสินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณาจะไปตามเรียกร้องกับใคร

ความเป็นจริงแล้ว การที่ผู้ขายของออนไลน์ได้ขึ้นทะเบียนพาณิชย์หรือไม่นั้น ไม่มีผลต่อการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด เนื่องจากเมื่อดูเจตนารมณ์ของการใช้ พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 แล้ว จะเห็นว่าการประกาศใช้นั้นเป็นไปเพื่อให้ได้ทราบถึงสถิติและหลักฐานการประกอบพาณิชยกิจของผู้ค้าที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงขยายเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในขณะที่ในแง่มุมของการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 วางหลักให้ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขายสินค้านั้น เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าการขายนั้นจะเกิดขึ้นที่ตลาดทางกายภาพ Physical Market หรือ ตลาดออนไลน์ในรูปแบบเสมือนตลาดจริง Virtual Market ก็ตาม ข้อเท็จจริงเรื่องการขึ้นทะเบียนพาณิชย์หรือไม่นั้นจึงไม่มีผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภค หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสินค้าที่ตนซื้อจากผู้ค้าออนไลน์แล้วก็สามารถเรียกร้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ การซื้อขายออนไลน์ยังจัดเป็นธุรกรรมที่ได้รับการรับรองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 อีกด้วย โดยบทนิยามในมาตรา 4 กำหนดให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ดังนั้น การซื้อขายของออนไลน์ซึ่งใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์จึงจัดเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ห้ามมิให้ปฎิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้กฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น หากผู้บริโภคมีเหตุต้องเรียกร้องทางกฎหมายนั้นก็สามารถทำได้ภายใต้บังคับมาตรา 7

โดย... 

ดร.สรรเพชุดา ครุฑเครือ

ไอมี่ มาราสา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์