BNK 48 : อำนาจละมุนหรือข้อจำกัดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

BNK 48 : อำนาจละมุนหรือข้อจำกัดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

เมื่อกล่าวถึง BNK 48 วง girl group ที่โด่งดังจากเพลง คุ้กกี้เสี่ยงทาย จนมีการสร้างภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อ BNK48 : Girls Don’t Cry นั้น

หลายคนคงทราบดีว่าวงนี้มีต้นแบบมาจากวง AKB 48 จาก Akihabara ของโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น Yasushi Akimoto ภายใต้แนวคิด ไอดอลที่คุณสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน โมเดลวง ANK 48 ได้ใช้ในการก่อตั้งวงน้องสาวอีก 5 วงในญี่ปุ่น ได้แก่ SKE 48 จาก Sakae, NMB 48 จาก Namba , HKT 48 จาก Hakata, NGT 48 จาก Niigata, STU 48 จาก Setouchi ยิ่งไปกว่านั้น โมเดลดังกล่าวยังถูกหยิบมาใช้ในการตั้งวงน้องสาวในประเทศอินโดนิเซียในชื่อวง JKT48 ประเทศจีนในชื่อวง SNH 48 ประเทศฟิลิปปินส์ในชื่อวง MNL 48 ประเทศไต้หวันในชื่อวง TPE 48 และล่าสุด ประเทศอินเดียในชื่อวง MUM 48

AKB 48 นอกจากจะเป็นโมเดลธุรกิจบันเทิงที่น่าสนใจเพราะสามารถสวนกระแสดิจิทัล โดยเป็นกลุ่มนักร้องหญิงที่ทำยอดขายแผ่นซิงเกิลสูงสุดของญี่ปุ่น ในปี 2013 ด้วยจำนวน 1,872,000 แผ่น ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ทางธุรกิจมูลค่ามหาศาลผ่านการเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คอนเสิร์ต รายการโทรทัศน์ ละคร การโฆษณา ฯลฯ โมเดลดังกล่าว นอกจากจะสามารถหยิบไปใช้ในประเทศอื่นๆ ได้แล้ว ยังเป็นการนำเอาวัฒนธรรมโอตาคุและkawaii culture ของญี่ปุ่นมาสู่ประเทศอื่นๆ วัฒนธรรมดังกล่าว ผนวกพร้อมๆ มากับความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการสนับสนุนการส่งออก สิ่งที่เรียกว่า content industry ซึ่งรู้จักกันว่า Cool Japan หรือที่ Douglas McGray ขนานนามว่า ความเจ๋งมวลรวมประชาชาติ ซึ่งสะท้อนผ่านการกระตุ้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ของญี่ปุ่น

จากการสำรวจความคิดเห็นของคนในประเทศต่างๆ ในปี 2012 พบว่า 36% คิดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสร้างสรรค์มากที่สุดและกว่า 30% เห็นว่า โตเกียวเป็นเมืองที่สร้างสร้างสรรค์ที่สุดในโลก นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ทำการสำรวจศักยภาพในการแข่งขันด้าน content ในแถบเอเชียพบว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงกว่าด้านการ์ตูนและแอนนิเมชันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ ขณะที่เป็นรองด้านละครดรามาเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ และเป็นรองด้านดนตรีเมื่อเทียบกับสหรัฐ นโยบาย cool Japan จึงเป็นนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันดังกล่าวให้บรรลุผลในเชิงธุรกิจ โดยการขจัดข้อจำกัดที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น แหล่งเงินทุน ต้นแบบการลงทุนและฐานการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนการปรับให้เนื้อหาดังกล่าว บูรณาการกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ แบบที่เรียกว่า localization

ความพยายามดังกล่าวสะท้อนภาพของการพลิกกลับมาใช้สิ่งที่ Joseph Nye เรียกว่าอำนาจละมุนหรือ soft power ที่นอกจากจะสะท้อนผ่านค่านิยมทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศแล้ว ยังสะท้อนผ่านมิติทางด้านวัฒนธรรม การได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นของวงน้องสาวอย่าง BNK 48 ในไทย จึงสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของการช่วงชิงอำนาจละมุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวของญี่ปุ่นในเอเชีย หลังจากที่ปล่อยให้ประเทศคู่แข่งอย่างเกาหลีใต้ช่วงชิงอำนาจนำไปก่อนหน้านี้ผ่านกระแส K-POP

แต่หากพิจารณาในอีกด้าน อำนาจละมุนดังกล่าวแยกไม่ขาดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ซึ่งนักคิดของสำนักแฟรงเฟิร์ตอย่างอะดอร์โน พิจารณาว่าก้าวขึ้นมามีบทบาทตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะของกลุ่มทุนที่ทะยานตัวขึ้นพร้อมไปกับเทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารที่ก้าวกระโดดไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างภาพยนตร์ ละคร และเพลง ฯลฯ กลับถูกวิพากษ์ในเรื่องการผลิตซ้ำในรูปแบบเดิมๆ โดยเฉพาะเนื้อหาซึ่งเป็นสารัตถะหลักของอุตสาหกรรมดังกล่าว แบบที่เราเรียกว่า content

BNK 48 : อำนาจละมุนหรือข้อจำกัดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

ซึ่งหากมองจากภาพสะท้อนของวง BNK 48 ข้อวิพากษ์ดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบของวง เช่น การสร้างไอดอลที่มาจากคนธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์พร้อมผ่านการเปิดการออดิชันสมาชิกของวงจากกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีอายุระหว่าง 12-22 ปี การคัดเลือกเซ็มบัตสึผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรจากผู้ดูแลวง การเลือกตั้งจากเหล่าบรรดาโอตะ การเป่ายิ้งฉุบ การคัดเลือกกัปตันและเซ็นเตอร์ รวมถึงการจัดให้มีกลุ่มของเคงคิวเซย์และอันเดอร์เกิร์ลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันและความพยายาม การสำเร็จการศึกษา รูปลักษณ์การแต่งตัว การสร้างกลุ่มแฟนคลับแบบที่เรียกว่า โอตะ โอชิ คามิโอชิ ตันโอชิในกลุ่มแฟนคลับซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเด็กวัยรุ่นหญิงที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการติดตามพัฒนาการของไอดอลที่ตนชื่นชอบผ่านกิจกรรมอย่างงานจับมือ การ live สดผ่านตู้ปลา การจำหน่ายชุดรูปถ่าย การถ่ายภาพคู่กับไอดอลที่ชื่นชอบ รวมถึงการติดตามเชียร์และให้กำลังใจไอดอลที่ชื่นชอบผ่านสื่อออนไลน์ การผลิตซ้ำดังกล่าวยังเห็นเด่นชัดผ่านการแปลเพลงต้นฉบับที่มีต้นแบบจากเพลงที่วง AKB 48 ร้องในภาคภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาไทย ทำให้บางเพลงไม่เป็นที่คุ้นหูหรือไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ข้อวิพากษ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยตัวของมันเอง อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมซึ่งไม่สามารถฉีกตัวออกจากรากฐานของ Pop Culture ที่ต้องพึ่งพิงลูกค้าหรือตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งกลยุทธ์ที่ง่ายและสะดวกที่สุดก็คือ การสร้างความเหมือนจากรูปแบบหรือ content ที่ติดตลาดหรือเป็นที่นิยมกันแล้ว เช่นเดียวกับที่วง AKB 48 ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นจนกลายเป็นไอดอลของคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ สิ่งที่ท้ายทายมากกว่าสำหรับ BNK 48 ก็คือความพยายามบูรณาการไปกับวัฒธรรมของประเทศอื่นๆ เช่น ไทยผ่านอุตสาหกรรมสารัตถะแบบ localization เนื่องด้วยรูปแบบดังกล่าวอาจจะเผชิญกับข้อจำกัดทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก

ดัวยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า อำนาจละมุนที่ต้องพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในรูปแบบดังกล่าวจะมีประสิทธิผลและสร้างศักยภาพในระยะยาวได้หรือไม่  ในที่สุดแล้วปรากฏการณ์ BNK 48 จะสะท้อนให้เห็นศักยภาพของอำนาจละมุนหรือข้อจำกัดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

โดย... 

กุลลินี มุทธากลิน 

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย