โอกาสทอง ‘สตาร์ทอัพสีเขียว’

โอกาสทอง ‘สตาร์ทอัพสีเขียว’

ต้องใช้เวลาคิดไอเดียที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้จริงๆ

เมื่อพูดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ หนึ่งในความคิดแรกๆ ที่คนอาจจะนึกถึงนอกจากความแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ “Unmet need” ของผู้บริโภคก็คือ การเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยยอดผลประกอบการที่สูงในระยะเวลาอันสั้น 

ทว่าจริงๆ แล้วยังมีธุรกิจสตาร์ทอัพประเภทที่น่าสนใจที่อาจยังไม่เกิดกำไรให้เห็นเป็นที่น่าตื่นเต้นมากนัก แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะต้องมาแรงอย่างแน่นอน นั่นก็คือสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ “Green Startup” ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคม

เท่าที่ทราบในประเทศไทยเริ่มมีคนทำสตาร์ทอัพประเภทสิ่งแวดล้อมและสังคมอยู่บ้าง แต่ในต่างประเทศนั้นธุรกิจประเภทนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่จับตามองมานานแล้ว อีกทั้งยังมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมักจะเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐรวมถึงวีซีต่างๆ ที่ไม่ได้มองเพียงแค่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอย่างเดียว แต่ยังมองถึงความยั่งยืนที่ธุรกิจนั้นจะมีให้กับสังคมในรูปแบบของบริษัทที่ต้องสามารถตั้งอยู่ได้บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ต้องมีรายได้ด้วยตัวเอง 

ตัวอย่างของธุรกิจในลักษณะนี้ในต่างประเทศ ที่จัดตั้งเป็นบริษัทอย่างจริงจังและมีรายได้แล้ว เช่น Impossible Foods ในสหรัฐผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคขึ้นมาจากพืช โดยเนื้อสัตว์เทียมนี้จะมีกลิ่น รสชาติ และสารอาหารใกล้เคียงกับเนื้อจริงมากที่สุด แต่มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคในแง่ของความสะอาดและถือเป็นอาหารสุขภาพ เนื้อสัตว์เทียมที่ว่านี้ได้ถูกวางขายแล้วในร้านอาหารต่างๆ ในหลายประเทศ 

อีกรายที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ JUST ที่ผลิตมากกว่าเนื้อสัตว์แต่รวมถึงไข่และวัตถุดิบในการทำอาหารต่างๆ ที่ทำมาจากพืช แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะยังไม่ได้วางขายอย่างแพร่หลายทั่วโลกแต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ด้วยแนวคิดที่ว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์เพื่อการบริโภคนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และพื้นที่บริเวณโดยรอบ ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งจะมีผลต่อผู้บริโภคโดยตรง

จากผลสำรวจของสถาบันทรัพยากรแห่งโลก(World Resources Institute) ระบุว่าก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 13.5% ของโลกเกิดจากอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์ได้จากพืชนี้ นอกจากจะช่วยในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อม ในอนาคตยังมีโอกาสที่จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงอาหารไปยังกลุ่มผู้ขาดแคลนอาหารในประเทศด้อยโอกาสต่างๆ ด้วย

ในประเทศไทยยังไม่ได้ยินว่ามีธุรกิจที่ผลิตอาหารเทียมได้เหมือนอาหารจริงอย่างในต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะในประเทศเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร รวมถึงราคาและการเข้าถึงอาหารนั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักที่กำลังเผชิญอยู่ ในทางกลับกันในแต่ละมื้ออาหารโดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ จะสังเกตุเห็นได้ว่ามีอาหารที่รับประทานไม่หมดและเหลือทิ้งจำนวนมากในทุกๆ มื้อในแต่ละร้านอาหาร ไม่นับรวมถึงวัตถุดิบเหลือทิ้งจากในครัวของธุรกิจด้านอาหารต่างๆ  

มีรายงานว่าเกือบครึ่งของผักและผลไม้ที่ถูกเก็บเกี่ยวมากกว่า 45% ถูกทิ้งไปเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งแทนที่อาหารที่ถูกทิ้งนี้จะถูกกระจายไปยังกลุ่มคนที่ขาดแคลน แต่กลับสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม และเกิดต้นทุนมหาศาลในการกำจัดอาหารที่กลายเป็นขยะเหล่านี้ ซึ่งขยะประเภทเศษอาหารและสารอินทรีย์มีสัดส่วนถึง 50% ของจำนวนขยะทั้งหมดในประเทศไทย 

นอกจากจะปรับทัศนคติของผู้บริโภคให้มีความพอดีในการบริโภคแล้วก็ยังมีสตาร์ทอัพของคนที่มีหัวใจสีเขียวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเหล่านี้ที่น่าสนใจ เช่น Clearance Next Door แพลตฟอร์มชี้เป้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงสถานที่ใกล้ๆ ที่สามารถซื้อสินค้าคุณภาพดีที่ใกล้หมดอายุได้ในราคาถูก และผู้ขายก็สามารถขายสินค้านั้นได้โดยไม่ต้องโละสินค้าออกจากชั้นวางขายทิ้งไปเปล่าๆ

ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ถึงแม้จะดูไม่หวือหวาหรือถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก แต่ในระยะยาวนั้นถือว่าเป็นธุรกิจที่จะมาแรงและจะมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน เพราะปัญหาเรื่องการบริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานานและจำเป็นที่จะต้องแก้ไข 

สาเหตุที่หยิบยกเรื่องราวของธุรกิจไอเดียดีด้านสิ่งแวดล้อมนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น เนื่องจากได้รับคำถามอยู่หลายๆ ครั้งว่าจะหาไอเดียในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร จะทำอะไรดีที่เป็นที่ต้องการของตลาด 

การเริ่มต้นธุรกิจประเภทที่มีคนทำอยู่แล้วในตลาดก็มีโอกาสที่จะสามารถทำให้สำเร็จได้ แต่อาจจะต้องทำงานหนักมากกว่าปกติและถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะต้องแข่งขันกับผู้เล่นเจ้าอื่นๆ ที่มีประสบการณ์อยู่ในตลาดมานานแล้ว 

ขอแนะนำว่า นอกจากจะลองมองหาว่ามีความถนัด มีใจรักอะไรแล้ว ถ้ายังหาไม่พบก็อาจจะมองในส่วนที่ใกล้ตัวก่อน อย่างขยะของเสียที่อยู่รอบตัวเราก็สามารถผันมาเป็นธุรกิจดีๆ ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาคิดใส่ไอเดียและความแตกต่างที่จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้จริงๆ อย่างที่แนะนำอยู่เสมอในเรื่องของ Unmet Need เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตั้งแต่ยังไม่เกิดคำถาม ขณะที่ผู้เล่นในตลาดยังน้อยก็คาดหวังที่จะเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดเพื่อสร้างสีเขียวเพิ่มให้กับวงการและโลกนี้เพิ่มมากขึ้น