บทบาทใหม่ของธนาคารในกระบวนการ e-Withholding Tax

บทบาทใหม่ของธนาคารในกระบวนการ e-Withholding Tax

เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อปรับปรุงระบบการบริหารการจัดเก็บภาษี(Tax administration)ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลายประเทศจึงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อทดแทนการจัดเก็บภาษีในรูปแบบเดิมๆ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับผู้เสียภาษีและหน่วยงานจัดเก็บ

สำหรับประเทศไทย ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล การแก้ไข ป.รัษฎากรในครั้งนี้ เป็นการผลักดันให้เกิดระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Tax) ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax), ระบบใบกำกับและใบรับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice/e-Receipt) และระบบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงเฉพาะบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในกระบวนการ e-Withholding Tax

e-Withholding Tax คืออะไร?

เมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร (e-Payment) กระบวนการ e-Withholding Tax ก็จะเกิดขึ้น

ดังนั้น e-Withholding Tax คือ การดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งผ่านช่องทางหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารผู้รับเงิน โดยกฎหมายจะกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย มีหน้าที่แจ้งธนาคารให้ทราบว่า “เงินที่สั่งโอนนั้นมียอดที่ผู้จ่ายต้องภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่จำนวนเท่าไร” ธนาคารในฐานะผู้ให้บริการรับชำระเงินจะมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับเงินจำนวนดังกล่าว หักภาษีตามยอดที่แจ้ง และนำส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร โดยข้อมูลเกี่ยวภาษี ณ ที่จ่ายทั้งหมดในกระบวนการที่กล่าวมานี้ จะอยู่ในรูปชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-Withholding tax นั่นเอง

จากแนวคิดในข้างต้น กฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขจึงได้กำหนดหลักการให้การชำระเงินในรูปแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของธนาคารจะต้องทำการ หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ VAT ผ่านระบบ e-Withholding Tax

ตามกฎหมายปัจจุบัน ผู้จ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องทำการหักภาษีในทุกคราวที่มีการจ่ายเงิน และนำส่งเงินได้ที่หักไว้นั้นต่อกรมสรรพากรภายใน 7 นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ตัวอย่างของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น กรณีนายจ้างจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้กับลูกจ้าง และการจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ (แม้จะไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการหรือมีสถานประกอบการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินที่จ่ายจากประเทศไทย)

อาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือเป็นธุรกรรมระหว่างประเทศ หากผู้จ่ายมีภาระที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย ทันทีที่มีการจ่ายเงิน ผู้จ่ายย่อมมีหน้าที่ชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย (และอาจมี VAT สำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ให้กับธนาคารเพื่อให้ธนาคารนำส่งเงินภาษีต่อไปยังกรมสรรพากร ธนาคารในบทบาทนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็น Tax Agent ของกรมสรรพากร

ธนาคารต้องทำอะไรบ้าง?

ธนาคารถูกกำหนดให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการ e-Withholding tax กล่าวคือ

เมื่อผู้จ่ายเงินได้แจ้งยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายและชำระภาษีให้กับธนาคารแล้ว ธนาคารมีหน้าที่รับและโอนเงินภาษีต่อไปยังกรมสรรพากร โดยธนาคารจะต้องจัดทำข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ทั้งกับกรมสรรพากรและผู้รับเงิน (หรือคู่ค้า) ด้วย

ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. จ่ายเงินเดือนให้นาย ข. จึงสั่งโอนเงินผ่านธนาคาร A บริษัท ก. มีหน้าที่แจ้งกับธนาคาร A ว่ามียอดหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวนเท่าใด เมื่อธนาคาร A ได้รับคำสั่งโอนเงินจากบริษัท ก. ธนาคารมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามยอดที่แจ้ง และนำส่งเงินภาษีที่บริษัท ก. ได้ชำระไว้ให้กรมสรรพากร จากนั้นธนาคารจึงโอนเงินที่เหลือพร้อมทั้งแจ้งข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับนาย ข. ผู้รับทราบ นอกจากนี้ธนาคารยังมีหน้าที่จัดทำข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างบริษัท ก. และนาย ข. เพื่อรายงานกรมสรรพากรอีกประการหนึ่งด้วย 

e-Withholding Tax ดีต่อประชาชนอย่างไร

สำหรับผู้จ่ายเงิน ระบบ e-Withholding Tax สามารถทดแทนการใช้แบบฟอร์มการยื่นภาษี ในรูปแบบเดิม กล่าวคือ ผู้จ่ายเงินไม่จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายและไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ ผู้จ่ายยังสามารถเลือกทำรายการผ่านช่องทางของธนาคารใดก็ได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินและการหักภาษี ณ ที่จ่ายทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้รับเงิน การที่ธนาคารช่วยนำส่งเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและจัดทำข้อมูลการหักภาษีให้กับกรมสรรพากร ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลการหักภาษีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารใดๆ อีก นอกจานี้ ทั้งผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลภาษีผ่านทาง Web Portal ของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นการลดปริมาณการจัดทำเอกสารในรูปแบบกระดาษ อันเป็นการลดข้อผิดพลาดในรูปแบบ human errors และลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสาร

ตามกระบวนการข้างต้น หากพิจารณาตามนโยบายภาษีอากรที่ดีย่อมสอดคล้องกับหลักความสะดวกในการเสียภาษี (Convenience of Payment) ซึ่งเป็นการหาสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างความสะดวกของผู้จ่ายและความง่ายในการตรวจสอบ/จัดเก็บของภาครัฐ ประกอบกับ เมื่อภาษีเป็นเรื่องที่กระทบต่อการตัดสินใจของผู้จ่ายได้น้อยที่สุดเท่าไร การจัดเก็บภาษีย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บ (Administrative Efficiency) 

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของธนาคารในกระบวนการ e-Withholding Tax นั้นมีมาก ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ เมื่อระบบ e-Withholding Tax ถูกนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ธนาคารในฐานะกลไกสำคัญของกระบวนการ Withholding จะต้องเตรียมจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อรองรับการดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย

**บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน**