ยิ่งอ่าน..ยิ่งโง่!

ยิ่งอ่าน..ยิ่งโง่!

ปัจจุบัน โลกซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน คนอยากรู้อะไรเพียงคลิกก็ได้ข้อมูล

เมื่อก่อนนี้เวลาไม่รู้เรื่องอะไร พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็จะแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ คนที่อ่านเยอะก็รู้เยอะ เด็กที่อ่านหนังสือเยอะจึงมักเป็นเด็กเรียนเก่ง

ปัจจุบัน โลกซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน คนอยากรู้อะไรเพียงคลิกก็ได้ข้อมูล บางทีไม่ได้อยากรู้หรือขวนขวายไปหา ก็มีผู้หวังดีแชร์ข่าวสารมาให้วัน ๆ หนึ่งอ่านแทบไม่ทัน สมัยนี้แทนที่จะหาข้อมูลไม่ได้ กลับกลายเป็นมีข้อมูลล้น จนทุกวันนี้พบว่างานสืบหาความจริงของข่าวสารที่ได้รับมากลับกลายเป็นงานประจำสำหรับพวกเราไปเสียแล้ว บางองค์กรถึงขนาดต้องวุ่นวายตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อนั่งคัดกรองข่าว อันไหนจริง อันไหนมีมูล อันไหนแค่มโน หรืออันไหนเพื่อสร้างกระแส และต้องเสียเวลาไปกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงแทนการใช้เวลาไปกับการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ

เอ็นบีซีนิวส์เผยงานวิจัยจากนักวิจัย MIT โดยศึกษาข้อมูลจาก Twitter พบว่า ข่าวเท็จถูกนำมาเผยแพร่ผ่านทาง Twitter ซ้ำแล้วซ้ำอีก เร็วกว่า บ่อยกว่า ไปไกลกว่าข่าวจริงถึง 70%

สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเรามีเวลาสำหรับความจริงและชีวิตจริงน้อยลง เราปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ยิ่งกว่านั้นบ่อยครั้งที่เรามีข้อมูลไม่จริงมากเกินไป ยิ่งได้รับข่าวสารมากเท่าไหร่ แทนที่จะฉลาดขึ้น กลับกลายเป็นฉลาดน้อยลง

คำถามคือเราจะใช้ชีวิตอย่างไร จะดำเนินธุรกิจอย่างไรให้มีสติ ในโลกที่เรื่องจริงเหลือน้อย

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ทำการศึกษาเรื่อง Future Skills 6 ทักษะแห่งอนาคตที่มนุษย์อย่างเราต้องมี ในยุคที่ข้อมูลมหาศาล ยุคที่ต้องใช้ทั้งข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาบริหารงานบริหารคน พบทักษะที่น่าสนใจซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ทักษะแห่งอนาคต ชื่อว่า Logical Investigation

Logical Investigation คือความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมินข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่รอบตัว รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง และสามารถมองหาแพตเทิร์นบางอย่างที่จะทำให้เรื่องราวมันง่ายขึ้น เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนไอเดีย แก้ปัญหา และหานวัตกรรมทางออกแห่งอนาคต การฝึกพัฒนาทักษะนี้ทำได้โดย

1. ตั้งคำถามกับข้อมูลรอบตัว (Curiosity) ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม

“เขาบอกว่าน้ำจะท่วมโลก”

“เขาบอกว่ากินนมแล้วเป็นมะเร็ง”

“เขาบอก ๆๆๆ ” “เขา” คือใคร??? “เขา” เชื่อถือได้ไหม??? “เขา” มีวัตถุประสงค์อย่างไร????

จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางสมองพบว่า สมองให้ความสำคัญกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ข้อมูลเท็จมักเป็นข้อมูลแปลก ๆ เรียกความสนใจแต่นำมาซึ่งความกังวล ความเครียด การตั้งคำถามกับข้อมูลข่าวสารรอบตัวช่วยยืดเวลาการยอมรับข่าวในทันที ช่วยให้เราอดทนรอต่อความไม่ชัดเจน อดทนที่จะยังไม่กด Like กดแชร์เผยแพร่ข่าวเท็จให้กระจายต่อไป

2. ยืดหยุ่น ไม่ยึดติด (Resilience) จากงานวิจัยของ Beckman Institute พบว่าคนที่มองโลกในแง่บวก ล้มแล้วลุก กล้าเสี่ยง ไม่ยึดติด มีความสามารถจัดการกับความเครียดได้ดีกว่า ดังนั้นการรับข้อมูลรอบตัวอย่างไม่มีอคติ เรียนรู้อย่างเปิดใจ ทำตัวเสมือนน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมปรับตัว เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการกับยุคที่ข้อมูลมีอยู่มหาศาล และเป็นตัวขับคลื่นตนเองไปข้างหน้า แทนที่จะรับข้อมูลมาแล้วนั่งจมกับปัญหา กลับนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในแบบของเราเพื่อขับเคลื่อนตนเอง ทีมงานและองค์กรไปข้างหน้า

เพียงเท่านี้พวกเราก็สามารถอยู่ข้อมูลมหาศาลอย่างมีสติ