ภูมิศาสตร์การเมืองโลกกับบทบาทใหม่ของยุโรปในเอเชีย

ภูมิศาสตร์การเมืองโลกกับบทบาทใหม่ของยุโรปในเอเชีย

ช่วงหลายปีมานี้ ยุโรปหันมาสนใจภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่จีน

แต่ให้ความสำคัญกับการอัพเกรดความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) มากขึ้น คงจะเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ที่ทำให้ยุโรปหันมาสนใจภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เพื่อคานบาทบาทพี่ใหญ่ของจีนในภูมิภาค และบทบาทสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Trump ที่กำลังเดินเกมส์ใหม่ในเอเชีย

สำหรับยุโรป การต้องมาขับเขี้ยวกับสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นมิตรสหายเก่า ทั้งในด้านการเมืองและการค้า อาจมองได้เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส สำหรับการเริ่มสร้างบทบาทใหม่ของยุโรปในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมา เอเชียไม่เคยปิดกั้นบทบาทของยุโรป แต่ยุโรปเองต่างหากที่เหมือนจะไม่ได้สนใจเอเชียมากนัก

แต่เมื่อยุโรปตระหนักได้ว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Trump คงไม่ได้ราบรื่นและง่ายอย่างที่คิด เพราะสหรัฐฯ จะคอยขัดคอยุโรปในหลายๆ เรื่อง อาทิ เรื่องการค้ายุโรปผลักดันนโยบายการค้าเสรี แต่สหรัฐฯ เน้นการดำเนินนโยบายการค้าแบบปิดกั้น คงถึงเวลาแล้วที่ยุโรปจะแสดงบทบาทนำในฐานะพันธมิตรที่แท้จริงสำหรับภมิภาคเอเชีย เพื่อตอบรับการความต้องการเป็นผู้นำโลก และสร้างฐานะอำนาจของยโรปในภูมิภาค

ด้านการค้า ในขณะที่สหรัฐฯ มีท่าทีแต่จะเปิดสงครามการค้ากับจีน ยุโรปได้เจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)เดินหน้าไปมาก ยุโรปเจรจาเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงค์โปร์ได้เสร็จแล้ว ในขณะที่กำลังเจรจากับอินโดนีเซีย (การเจรจากับไทย ยุโรปเคยเปิดการเจรจาไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่หยุดชะงักลงด้วยเหตุผลทางการเมืองไทย)

ด้านการลงทุน ยุโรป โดยเฉพาะนักลงทุนใหญ่อย่างเยอรมนีขยายการลงทุนในปประเทศจีนในอุตสาหกรรมหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไปจนถึงเคมีภัณฑ์ไปอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความยุโรปจะอ่อนข้อลงเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ด้านการค้า อาทิ การปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนยุโรปที่เข้าไปลงทุนในจีนและภูมิภาค (กันไว้ก่อน ไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบ) สิทธิมนุษยชน แรงงานและการค้ามนุษย์ไปจนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเด็นหลักเหล่านี้ถูกสอดแทรกอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทั้งนั้น

ความสัมพันธ์กับเอเซียน

ยุโรปพูดอยู่เสมอว่าอาเซียนนั้นเป็นพันธมิตรสำคัญ เรียกว่า "a natural partner" เพราะคบหากันมานานถึง 40 ปี โดย 2 ภูมิภาค เพิ่งฉลองครบรอบความสัมพันธ์อาเซียนและอียู ครบ 40 ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว

สถิติทางการค้าและการลงทุนแสดงว่า ในปี 2559 อียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 สำหรับอาเซียน และการค้าระหว่าง 2 ภูมิภาค คิดเป็นมูลค่าถึง 226.8 พันล้านยูโร ในปี 2560 เพิ่มขึ้น 9.1% (แบบ year-on-year) สำหรับการลงทุน อียูเป็นนักลงทุนอันดับแรก ด้วย FDI flow จากอียูมาอาเซียนมากถึง 26.3 พันล้านยูโร

หากจะมองดูศักยภาพและความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งวิเคราะห์ความต้องการของภาคธรุกิจของทั้ง 2 ภูมิภาค ความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างอียู-อาเซียนถือได้ว่าเป็น win-win หากแต่หลายปีที่ผ่านมา มีประเด็นการเมืองมาสกัดกั้นความคืบหน้าเอาไว้

แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้ ย่างเข้าปีที่ 41 ของความสัมพันธ์อาเซียนและอียู มีลุ้นว่าการเจรจาเอฟทีเอแบบภูมิภาคต่อภูมิภาคระหว่างอาเซียนและอียู กำลังกลับมาอยู่ในอาเจนดาทางการเมืองอีกครั้งไหม

ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ 2 ภูมิภาคประกาศคำมั่นในลักษณะนี้ แต่ความท้าทาย คือ เราจะเดินหน้าไปสู่การเจรจาเอฟทีเอ ที่จะสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ผ่านการเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจและการลงทุน ช่วยสร้างงาน และผลักดันศักยภาพการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่า อียูนั้นผลักดันการเจรจาเอฟทีเอแบบที่เรียกว่า new generation FTA คือไม่ใช่การเจรจาเพื่อลดภาษีทางการค้า หรือส่งเสริมการลงทุนของภูมิภาคเท่านั้น แต่มีประเด็นด้านความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านแรงงาน และประเด็นด้านสังคมอื่นๆ เข้ามาสอดแทรกให้อาเซียนต้องยอมรับและปรับใช้ไปด้วย

อียูและอาเซียนเองก็ตระหนักถึงศักยภาพและข้อจำกัดเหล่านี้ และกำลังหารือถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ภูมิภาคให้เป็นระดับ strategic partnership ในอนาคต ไม่น่าจะนานเกินรอ

ความสัมพันธ์กับไทย

สำหรับประเทศไทย เอฟทีเอระหว่างอียูและอาเซียนจะเป็นประโยชน์แน่นอน ในขณะเดียวกันการมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะยิ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนยุโรปได้มากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจยุโรปไม่ได้มองโอกาสธุรกิจที่จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองประเทศไทยเป็นศูนย์ยุทธศาสตร์การลงทุนหรือการผลิตเพื่อขยายตลาดและส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชีย

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซ็ม หรือ Asia-Europe Meeting (ASEM) ครั้งต่อไป ที่สหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ต.ค. ศกนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ดูจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นการประชุมผู้นำที่มีผู้นำจากเอเชียและยุโรปเข้าร่วม แบบไม่มีสหรัฐฯ หวังว่าเวทีนี้จะเป็นโอกาสให้ยุโรปได้สร้างบทบาทของตนในเวทีโลกได้มากขึ้น ยุโรปคงไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากเดินหน้าต่อไปให้ถึงที่สุด