รู้เมื่อถึงเวลาที่ต้องรู้

รู้เมื่อถึงเวลาที่ต้องรู้

คงเคยมีประสบการณ์กันมาบ้าง ที่บางครั้ง เราได้วิธีจัดการเรื่องที่เราไม่เคยเจอะเจอ โดยไม่ได้เล่าเรียนเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อนเลย

อยู่ๆ ก็นึกวิธีนั้นขึ้นมาได้ ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการเปลี่ยนประสบการณ์ที่เราเคยเจอะเจอมาก่อน ในเรื่องอื่นๆ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องเดียวกับเรื่องใหม่ที่เพิ่งพบ แต่มีความเกี่ยวพันกันในทางใดทางหนึ่ง ความสามารถรู้ได้ในยามที่ต้องใช้ความรู้นี้ จำเป็นมากขึ้นในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่บ้านเมืองที่ผู้นำพยายามหมุนย้อนเวลากลับ ด้วยสารพัดเทคนิค การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ก็ยังปรากฎให้เห็นในระดับจุลภาคอยู่เสมอ ถ้ายอมรับว่าไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดขึ้นได้ การพัฒนาความสามารถในการที่จะรู้ได้เมื่อต้องรู้ จะเป็นประโยชน์กับทุกคน

ทุกครั้งที่ต้องจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดิมที่เราคุ้นเคยมาก่อน ให้ลองนึกดูหน่อยว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เราต้องจัดการเรื่องนั้นในแบบเดิมๆ มีกฎระเบียบกำหนดไว้ หรือมีอะไรที่จำกัดหนทางใหม่ในการจัดการกับเรื่องนั้น ถ้าไม่พบว่ามีอะไรมาห้ามไม่ให้ใช้หนทางใหม่ๆ ให้ลองหาหนทางใหม่ๆ ในการจัดการกับเรื่องเดิมที่เจอะเจอเสมอ หากทำเป็นประจำ จะพบว่า เราเริ่มรู้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมามากขึ้นด้วยตัวของเราเอง มากกว่าตอนที่จัดการเรื่องเดิม แบบเดิมๆ

ทุกครั้งที่จัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จสิ้นไป ให้ทบทวนว่า เราจัดการเรื่องอะไรไปได้บ้าง เราจัดการเรื่องนั้นได้ด้วยวิธีใด เพราะอะไรเราจึงเลือกใช้วิธีนั้น และถ้าต้องจัดการเรื่องนั้นซ้ำอีก ขั้นตอนต่างๆ ควรจะดัดแปลงจากที่เคยทำมาแล้วอย่างไร เรื่องใหญ่ๆ มักต้องช่วยกันทำหลายคน การร่วมกันทบทวน จะมีประโยชน์ยิ่ง การทบทวนในกลุ่มนั้น ห้ามไม่ให้มุ่งไปที่การตำหนิว่าใครทำอะไรผิดพลาด แต่ให้มุ่งไปที่อะไรคือความสำเร็จ และความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมความสำเร็จนั้นจึงเกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ อย่าแย่งกันเป็นพระเอกนางเอก เพราะนอกจากไม่เสริมสร้างการรู้เมื่อต้องรู้ แล้วยังนำไปสู่ความขัดแย้งที่จะทำลายการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มอีกด้วย

 ก้าวสำคัญในการสร้างการรู้เมื่อต้องรู้นั้น คือต้องท้าทายตนเองให้กล้าเข้าไปจัดการในเรื่องที่เราเคยหวาดกลัว หรือขยาดว่าเรื่องนั้นช่างยากเย็น หนีได้หนีก่อน ยิ่งขยาดเรื่องใด เรายิ่งหมดความสามารถในการที่รู้เมื่อต้องรู้ในเรื่องนั้น ลองเริ่มต้นจากเรื่องยากเย็นที่หากเข้าไปจัดการแล้วพลาดพลั่งล้มเหลวขึ้นมา ก็ไม่เสียหายรุนแรงอะไรมากนัก หากพลาดกับเรื่องยากก็อย่าเสียอกเสียใจ แต่ให้ลองใหม่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผล ขอให้ได้ผลสักครั้งแค่นั้น ต่อไปเรื่องนั้นก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป การกล้ารับมือกับเรื่องยาก ช่วยสร้างความสามารถในการที่จะรู้เมื่อต้องรู้ได้เป็นอย่างดี

ฝึกรับฟังคำวิจารณ์วิธีการจัดการเรื่องต่างๆ ที่เราเลือกใช้ คำวิจารณ์จะโดยผู้ปรารถนาดี หรือไม่ดีก็ตาม จะมีบางอย่างที่เป็นประโยชน์ที่นำไปใช้ได้ ในวันหน้าได้ การรับฟังให้ฟังจริงๆ อย่าเน้นการโต้คารม ระลึกไว้เสมอว่าเราฟังคำวิจารณ์เพื่อเก็บบางอย่างที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ฟังเพื่อเอาชนะใคร

วันใดที่เจอเรื่องใหม่ ที่ไม่เคยจัดการมาก่อน ให้นึกดูว่าเรื่องนั้นคล้ายๆ กับเรื่องใดบ้างที่เราเคยเจอะเจอมาก่อน ลองเปรียบเทียบในมิติต่างๆ โดยรอบ แต่อย่ารีบร้อนเลือกวิธีที่นึกขึ้นมาได้ในทันที แต่ให้นึกต่อไปว่า ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ ยังมีวิธีใดอีกบ้าง แต่ถ้ายิ่งคิดหาหนทางยิ่งเครียด ยิ่งกังวล อย่าได้นำวิธีที่คิดได้ท่ามกลางความเครียด ความตระหนกนั้นไปใช้อย่างเด็ดขาด วิธีจัดการเรื่องใหม่ที่ได้ผล ได้มาเฉพาะในยามที่ไม่เครียด ไม่ตระหนกเท่านั้น ที่คิดได้ในยามเครียด ยามตระหนกนั้นเป็นกลไกการเอาตัวรอดออกจากความตระหนก ด้วยการคว้าคำตอบอะไรสักอย่างมาเป็นสรณะ ซึ่งแน่ใจได้เลยว่าไม่ใช่สรณะที่พึ่งได้อย่างแน่นอน

ฝึกไว้จนเป็นนิสัย ท่านจะพบว่าวันนี้ ท่านรู้เมื่อต้องรู้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการเล่าเรียนเพื่อให้ได้ ปริญญาใดๆ เพิ่มเติมอีก