ความจำเป็น พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ

ความจำเป็น พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ

จากบทความเรื่อง “ข้อห่วงใยในร่าง พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” โดย ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

 อาจทำให้ผู้อ่านและประชาชนทั่วไปเข้าใจเจตนารมณ์ของการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คลาดเคลื่อน จึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อสร้างความเข้าใจ และอาจนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหากฎหมายให้มีความสอดรับกับสภาพการณ์ที่เหมาะสมต่อไป

ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทย แบ่งได้ 3 ระดับ คือ 1.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนมากที่สุด คือ การดูแลสุขภาพแต่แรกแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อเนื่อง ทั้งเชิงรับและเชิงรุกในชุมชน ร่วมทั้งระบบส่งต่อ 2.ระบบสุขภาพทุติยภูมิ คือ การจัดบริการที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล แต่เป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ไม่ซับซ้อนมาก 3.ระบบสุขภาพตติยภูมิ คือ การจัดบริการที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนมาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา

ในหน่วยบริการทั้ง 3 ระดับนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีสัดส่วนการดูแลรับผิดชอบอยู่ถึง 70% ซึ่งในระบบสุขภาพทั้ง 3 ระดับ ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นระบบสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นระบบสุขภาพที่ดูแลประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับระบบสุขภาพทุติยภูมิและตติยภูมิ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามมุ่งเน้นพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากขาดกลไกและวิธีการสำคัญในการบริหารจัดการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นเอกภาพ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่เดิมไม่สนองตอบการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ช.(5) ที่กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยสาระสำคัญ คือ 

1.การขึ้นทะเบียนประชาชนคนไทยทุกคนให้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับบริการสุขภาพปฐมภูมิ (มาตรา 17) 

2.จัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน จากเดิมที่มีความหลากหลายขึ้นกับกองทุนสุขภาพและหน่วยบริการที่มีทั้งภาครัฐและเอกชน ระบบที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไปในรูปแบบคลินิกหมอครอบครัว สามารถดำเนินการได้เฉพาะส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบเท่านั้น

3.จัดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีความเชื่อมโยง และกลับไปหาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีมสหวิชาชีพ และประชาชน จากหน่วยบริการสุขภาพเดิมที่มี่ทั้งหน่วยภาครัฐและเอกชน (มาตรา 20) 

4.จัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหสาขาวิชาชีพดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ตามมาตรา 258 ช.(5) ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 

5.จัดระบบกลไกการเงินที่เชื่อมโยงกับรูปแบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนคนไทยจากทุกกองทุน ได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน ปรับกระบวนทัศน์เดิมของทุกกองทุนให้ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่ารักษา หลุดพ้นจากความล้มละลายทางการเงินของทุกกองทุนและประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อการมีดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จะทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศ มีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถดูแลประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงได้ ลดการเจ็บป่วยที่ป้องกันได้ ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการนอนและเวลานอนในโรงพยาบาลได้ ประชาขนและชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลดลงได้ในระยะยาว

โดย... 

นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย

รองผู้อำนวยการ สำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว (สปค.)