การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 10 ประเด็น

การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 10 ประเด็น

ผู้เขียนได้เข้าประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อช่ว ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะเป็นผู้ไปชี้แจงแก่

คณะกรรมาธิการในเรื่องการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 10 ประเด็น ได้แก่

1.ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ตามร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเมื่ออ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.นี้แล้วจะพบว่าในมาตรา 3 ถ้ามีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับนโยบายด้านระบบสุขภาพเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายนั้น เว้นแต่นโยบายด้านระบบสุขภาพใด ขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตามพ.รบ.นี้ก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพ.ร.บ.นี้

ผู้เขียนได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนี้ จากเหตุผลดังนี้

1.1 กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายจากรัฐบาลหรือครม. และหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข ก็ควรต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่การเขียนร่างพ.ร.บ.ให้มีคณะกรรมการระดับชาติ มาเป็นคณะทำงานเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 11 “กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ และประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอต่อครม.ทุกสี่ปี ซึ่งอาจทบทวนแก้ไขนโยบายดังกล่าวได้ทุกปีตามความเห็นชอบของครม.”

วิจารณ์ การมอบให้คณะกรรมการซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ มาเป็นกรรมการถึง14 คน (กรรมการตามมาตรา 6(1)(2)(3)(4) ซึ่งเหมือนกับเป็นการประชุมครม.ย่อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งน่าจะทำได้ในระดับการประชุมครม.อยู่แล้ว ไม่ควรต้องมาประชุมในรูปแบบของกรรมการอีก และเชื่อว่ารัฐมนตรีหลายคนคงไม่สละเวลาทำงาน(ของกระทรวงตน) มาประชุมด้วยตนเอง (เหมือนที่เป็นอยู่ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) แต่มอบหมายคนอื่นมาแทน และผู้แทนมักไม่กล้าออกความเห็น ทำให้รัฐมนตรีที่เป็นกรรมการ ไม่มีผลต่อการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพเลย

หมายเหตุ ขอให้สนช.โปรดให้ความสนใจศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่เป็นการ เลียนแบบการเขียนกฎหมายองค์กรส.ต่างๆ มีการกำหนดการตั้งคณะกรรมการแบบกฎหมายตระกูลส. และมาตรา 3 กำหนดไว้ห้ามแก้ไขนโยบายในกฎหมายองค์กรส.ทั้งหมดเลย ไม่ต้องสงสัยว่าพวกส.เขียน เพื่อต้องการรวบอำนาจไว้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน

การเขียนกฎหมายฉบับนี้ มีที่มาของคณะกรรมการ เลียนแบบจากกฎหมายองค์กรส.ต่างๆ เช่น สสส. สปสช. สช. ฯลฯ กับทั้งให้ผู้บริหารองค์กรส.ทั้งหมดมาเป็นกรรมการ ทุกองค์กรตามาตรา 6(5) จะทำให้บุคคลจากองค์กรส.มาทำหน้าที่ในเวลาลา 180 วัน ก่อนที่จะมีการตั้งกรรมการตามมาตรา 6(6)(7)(8)(9) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่มีกรรมการจากมาตรา6(1)(2)(3) (4)(5) มีเวลาถึง 180 วัน จะทำให้คณะกรรมการเหล่านี้ถูกชี้นำจากคณะกรรมการตามมาตรา 6(5) ได้ง่าย เป็นการวางแผนการ “ยึดอำนาจ”ในการ “กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือที่กลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจในการบริหารองค์กรส.ทำสำเร็จมาแล้วในการกุมอำนาจบริหารสวรส. สสส. สปสช. สช. สพฉ. สรพ. (ในร่างกฎหมายนี้ ได้กำหนดให้คนเหล่านี้มาเป็นกรรมการตามม.6(5)

1.2. คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.นี้มีจำนวนมากเกินไป (45 คน) ประกอบไปด้วยบุคคลซึ่งมาจากตำแหน่งระดับสูงสุดในทางการเมืองคือนายกรัฐมนตรีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆอีก 9 คน ซึ่งรัฐมนตรีเหล่านี้ จะมีเวลามาประชุมคณะกรรมการด้วยตนเองหรือไม่? และไม่พลาดที่มีการกำหนดให้มีกรรมการจากหน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะด้านสุขภาพ (องค์กรภายใต้การควบคุมของกลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ศิษย์นพ.ประเวศ วะสี) ได้แก่เลขาธิการสปสช. เลขาธิการสช. เลขาธิการสพฉ. ผู้อำนวยการสวรส. ผู้จัดการสสส. และผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

กรรมการจากสภาวิชาชีพ ด้านสุขภาพอีก 9คน กรรมการจากผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 5คน กรรมการจากผู้แทนภาคประชาสังคมและเอกชนอีก 5 คน กรรมการผ็ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการ

การจัดตั้งคณะกรรมการแบบนี้ เป็นการลดฐานะของรัฐมนตรีทุกคนและนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้มีเสียงเพียง 1 เสียง ในการคิดนโยบายด้านสุขภาพที่เป็นภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง และลดฐานะของปลัดกระทรวงให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการเท่านั้น ฉะนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถควบคุมนโยบายที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภาได้ เพราะต้องทำตามติคณะกรรมการชุดนี้

การเขียนกฎหมายแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เป็นการร่างกฎหมายตามความต้องการและตามแบบแผนของกฎหมายองค์กรส.ต่างๆ ที่เคยร่างและบัญญัติออกมาใช้บังคับแล้ว(ได้แก่ สวรส. สสส. สปสช. สช. สพฉ. สรพ.) และยังมีการเขียนล็อค specification ไว้อีกว่า ถ้ามีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพอยู่แล้ว ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายนั้น  กล่าวคือ ห้ามใครมาแตะต้องแก้ไขกฎหมายองค์กรส.ต่างๆดังกล่าว

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคือการ “กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ แต่ห้ามไปแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรส.ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 

การทำงานของคณะกรรมการให้กรรมการทุกคนมีเสียงคนละหนึ่งเสียงเท่ากัน แบบกฎหมายองค์กรส. ทั้งๆที่กรรมการแต่ละคน มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการด้านสุขภาพแตกต่างกันไป (ตามที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการทำงานขององค์กรส.ต่างๆ)

ที่สำคัญหน่วยงานด้านสุขภาพทุกแห่ง ต้องปฏิบัติตามมติและข้อสั่งการของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะถูกรายงานต่อครม.

ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า การทำเช่นนี้จะทำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพชุดนี้ ออกกฎระเบียบควบคุมการบริหารกองทุนประกันสุขภาพ ในระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้สิทธิประโยชน์ตามหลักการของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ซคึ่งในขณะนี้ยึดหลักการโดย “ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้ได้มากที่สุด” อันนำไปสู่ความล้มเหลวในด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและมาตรฐานการแพทย์ไทย ดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว จากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา

คำถามคือ กระทรวงสาธารณสุขยอมลดบทบาทจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและการทำงานของกระทรวงสธ. เหมือนกระทรวงอื่นๆ โดยต็มใจลดบทบาทตนเอง เพื่อทำตามมติของนโยบายที่รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ องค์กรส. และกรรมการอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ผู้มีความรู้ หรือความเชี่ยวชาญกำหนดหรืออนุมัติเท่านั้นหรือ?

ในเรื่องการบริหารจัดการยังมีการวางแผนจัดตั้งเขตสุขภาพ และคณะกรรมการเขตสุขภาพ และวางแผนต่างๆมากมาย โดยไม่ได้คำนึงว่าในปัจจุบันมีปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการอย่างไร เช่น การขาดแคลนงบประมาณ การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีน้อย จนทำให้ประชาชนเสียเวลารอคอยนาน ไม่มีการพูดถึงการจัดระเบียบการบริการอย่างไร เพื่อที่จะยุติปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป

2.ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านสุขภาพ เพิ่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในการอภิบาลระบบสุขภาพ ควรมีการปรึกษาให้ผู้เชี่ยวชาญระบบจากกระทรวงดิจิทัลหรือกระทรวงมหาดไทยที่มีข้อมูลของประชาชนมาช่วยวางแผนการจัดทำข้อมูลสุขภาพ และการป้องกันการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่สมควรด้วย

3.กำลังคนด้านสุขภาพ ไม่มีการกล่าวถึงความขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นการไม่มีตำแหน่งบรรจุ ออกกฎระเบียบไม่ให้จ้างลูกจ้างมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน แต่ชอบคิดวิธีการลงโทษ เช่น การบังคับใช้ทุน การเพิ่มค่าปรัลบ และปัญหาสมองไหลออกจากระบบ ไม่มีการกล่าวถึงว่าจะมีการเพิ่มตำแหน่งบุคลากรแค่ไหน อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัย ในการไปรับบริการด้านสุขภาพ

4.ระบบบริการปฐมภูมิ มีการตั้งเป้าว่าจะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและการลงทะเบียนชื่อแพทย์คู่กับประชาชน มีการตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ได้6,500 คน โดยให้แพทย์ 1 คน รับผิดชอบประชาชน 10,000 คน

 แต่การทำงานของแพทย์นั้นเป็นการรับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน การกำหนดให้แพทย์ 1 คน รับผิดชอบประชาชน 10,000 คนตลอดปีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแพทย์ก็ย่อมต้องมีเวลาหยุดทำงานเพื่อพักผ่อนและมีเวลาใช้ชีวิตของตนเองบ้าง เพราะฉะนั้น การจัดให้มีแพทย์ประจำครอบครัว ต้องจัดให้มีแพทย์อย่างน้อยเป็นกลุ่ม ๆละ 3-4 คนต่อประชาชน 10,000 คน เพื่อจะสามารถจัดตารางการทำงานให้แพทย์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานรับผิดชอบต่อการเจ็บป่วยของประชานตลอด 24 ชั่วโมงทุกๆวัน

และมีการยกร่างพ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ เพื่อจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยไม่มีการกล่าวถึงว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน(บางแห่ง) ที่เคยทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิมาก่อน จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิหรือไม่ และแพทย์ประจำครอบครัวจะมีที่ทำงานอยู่ที่ไหน หรือให้โรงพยาบาลทุกแห่งต่างก็ตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิแยกออกมาจากการบริการเดิม

ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการจัดทำพ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ ในรูปแบบการตั้งคณะกรรมการมากมาย และกำหนดให้คนทุกคน “มีสิทธิ”ได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ แต่ควรจะเป็น “หน้าที่”ของประชาชนที่ต้องไปพบแพทย์ครอบครัวก่อน ในการดูแลรักษาสุขภาพ และประชาชนจะไปพบแพทย์อื่นเช่นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องได้รับการส่งตัวไปจากแพทย์ประจำครอบครัวเท่านั้น เพื่อลดการไปรับบริการสุขภาพเกินความจำเป็น (ยกเว้นการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น) ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว และจัดให้มีการประกันสุขภาพ ก็มีการกำหนดขั้นตอนในการไปรับบริการดังที่ว่ามานี้เท่านั้น

5.การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ มีรายงานว่ามีการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้เขียนก็ขอให้ช่วยดูแลส่งเสริมสมุนไพรไทย เช่นกัญชา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สามารถสกัดน้ำมันกัญชามาใช้ในการรักษาโรคบางโรคที่ได้ผลดี แต่ติดขัดเรื่องพ.ร.บ.ยาเสพติด และได้ข่าวว่าจะกำหนดให้มีการสะกัดน้ำมันกัญชาโดยเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาต่างประเทศ แต่ปิดกั้นโอกาสนักเคมีชาวไทยที่สามารถสะกัดน้ำมันกัญชาได้ตามภูมิปัญญาไทย และมีการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรคได้หลายชนิด รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนและช่วยพัฒนาการสะกัดน้ำมันกัญชาจากภูมิปัญญาไทย โยกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกก็ได้พัฒนาวิธีการสะกัดน้ำมันกัญชามาใช้เป็นประโยชน์รักษาผู้ป่วยได้อยู่แล้ว

อย่าลืมว่าต่างชาติเคยวิจัยและผลิตยาจากฝิ่น เอามาขายให้คนไทยมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งๆที่คนไทยปลูกฝิ่นได้ แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยาจากฝิ่น และปัจจุบัน กัญชาที่เป็นพืชพื้นบ้านไทย ก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีการวิจัยและผลิตเป็นยาได้ รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม(เสพติด) แต่ควรส่งเสริมการวิจัยในการผลิตยาที่มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคโดยเร็ว และอย่าล็อกเสปคให้สกัดได้จากต่างประเทศเท่านั้น

6.ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มีการวางแผนในการทบทวนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน วางแผนจะแก้ไขพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อจัดตั้งกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินระดับเขต จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ซึ่งผู้เขียนมองว่า เป็นการต้องการงบประมาณการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และต้องการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเฉพาะทุกเรื่อง ทั้งๆที่ควรจะเป็นการทำงานทั้งระบบไม่แยกย่อยจากกัน จะได้ไม่ซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำงานซ้ำซ้อนกัน และรูปแบบคณะกรรมการถ้าทำแบบเดียวกับ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ

7.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผู้เขียนเสนอว่า การป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งเสริมเลย และระบบประกันสุขภาพก็ไม่ให้สิทธิในการรับบริการก็คือ การตรวจคัดกรองโรคก่อนเกิดอาการเจ็บป่วย (screening) ซึ่งจะทำให้มีการตรวจพบโรคก่อนแสดงอาการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่เพิ่งเริ่มอาการป่วย โดยผู้ป่วยอาการไม่มากหรือรุนแรงจึงทำให้ค่ารักษาไม่มากเหมือนกับการมารักษาในขณะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว

8.ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ผู้เขียนได้เสนอว่า ยังมีหน่วยงานหนึ่งคือสสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มีงบประมาณในการสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกับสสส.ในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อปฏิบัติตนให้เหมาะสมในการสร้างเสริมสุขภาพตนเองและครอบครัว ให้มีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วย จากการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นพฤติกรรมที่เสริมสร้างสขภาพ และลด ละ เลิกพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ

9.การคุ้มครองผู้บริโภค มีการตั้งเป้าในการเร่งการสร้างเสริมสุขภาพในเชิงรุก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยการจัดทำโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เพื่อให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 116 แห่ง ได้รับบริการอาหารปลอดสารพิษในโรงพยาบาล

ผู้เขียนก็เลยเสนอว่า ทำไมกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่คิดวางแผนกับรัฐบาลในการ “ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร” เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตรและเหลือตกค้างในดิน น้ำ อากาศและพืชผลการเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ หรือพืชเพื่อการบริโภค เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชน แทนที่จะรอให้ป่วยแล้วจึงจะได้ไปกินอาหารปลอดสารพิษในโรงพยาบาล โดยการไปสนับสนุนให้เกษตรกรในท้องถิ่นผลิตพืชผลปลอดสารพิษ เพราะกระทรวงาธารณสุขก็คือกระทรวงหนึ่งในรัฐบาลที่ควรมีนโยบายให้ประชาชนได้อาศัยในสิ่งแวดล้อม(ดิน น้ำ อากาศ อาหาร) ที่ปราศจากการปนเปื้อนจากสารพิษ

10.ระบบหลักประกันสุขภาพ มีข่าวมาเกือบ 2 ปีแล้วว่ามีการยกร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่บัดนี้ไม่ทราบว่ามีการแก้ไขพ.ร.บ.นี้ไปถึงไหนแล้ว เพื่อปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุนให้มีธรรมาภิบาล ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้มี Governance excellence ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 การปกครองบ้านเมืองในปัจจุบัน แม้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย (โดยการรัฐประหาร) แต่ก็อาศัยหลัการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ และยึดหลักการตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกลางผ่านกระทรวง ทบวง กรม แต่การบริหาราชการในรูปแบบคณะกรรมการขึ้นมาซ้ำซ้อนกับผู้มีตำแหน่งหน้าทีตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่มีอยู่แล้ว นอกจากจะต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อนในการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุม การเสียเวลาทำงานซ้ำซ้อนกัน และการมอบอำนาจให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน(แต่มาจากการเลือกของพรรคพวกกันเอง) และส่วนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ รวมทั้งขาดการตรวจสอบประเมินผล ทั้งระบบการเงิน และการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ที่เกิดขึ้นแล้วในองค์กรสุขภาพต่างๆ(ที่หัวหน้าคสช.สั่งให้แก้กฎหมาย สสส และสปสช. แต่ก็ยังไม่สำเร็จ) และยังไม่สามารถแก้ไขได้ แล้วมาทำซ้ำโดยการมาทำการยกร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกัน น่าจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น มากกว่าจะทำให้เกิดการบริหารที่มีเอกภาพ ดังกล่าวอ้างตามที่อ้างเหตุผลในการยกร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กมธ.สธ. สนช.