แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ...BNK 48  กับการ Disrupt วงการบันเทิงไทย

แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ...BNK 48  กับการ Disrupt วงการบันเทิงไทย

ในยุค Digital Transformation ที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำธุรกิจในยุค Analog ต้องเลิกล้มปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก

ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจบันเทิงที่ผลิตสื่อเพลงโดยสร้างนักร้องที่มีชื่อเสียง สร้างรายได้จากการขายแผ่น CD การจัดคอนเสิร์ต ที่เคยประสบความสำเร็จ ต้องประสบปัญหาขาดทุนไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ทำให้โมเดลทางธุรกิจในวงการบันเทิงที่สร้างแบรนด์ในรูปแบบที่ผ่านออนไลน์ ของ BNK 48 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่คนแก่ในยุค Sixty ที่ร้องเพลงได้เฉพาะเพลงสุนทราภรณ์อย่างผมชื่นชมและขอนำเสนอเป็นกรณีศึกษาทางการตลาดที่ควรเรียนรู้สำหรับท่านผู้ประกอบการครับ

BNK 48 เป็นวง Girl Group ระบบแฟรนไชส์ที่ถอดแบบมาจากวง AKB 48 ในประเทศญี่ปุ่น ใช้โมเดลทางธุรกิจและช่องทางในการหารายได้จากการขายเพลง และขายของสะสม เช่น ชุดภาพถ่ายของสมาชิกในวงให้แฟนคลับ หรือที่เรียกว่าโอตะ ซื้อเพื่อจะได้จับมือกับไอดอลที่ชื่นชอบ การออกงานและแสดงโชว์ มีกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ไอดอลที่เข้าถึงได้

ชื่อของ BNK 48 ย่อมาจาก Bangkok หรือบังโคะคุ (Ban-ko-ku) ต้นแบบคือวง AKB48

ซึ่งชื่อของวงมาจากสถานที่ต้นกำเนิดอย่าง อากิฮาบาระ (Akihabara) ที่มีชื่อย่อว่า อากิบะ (Akiba-AKB)

BNK 48 เริ่มวงด้วยการรับสมัครเด็กสาวช่วงวัยอายุ 12-22 ปี จำนวนกว่า 1,375 คน ถูกคัดให้เหลือ 30 คน โดยให้ความสำคัญกับเด็กสาวที่มีความสามารถในการนำเสนอ สามารถนำเสนอสิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์มีสาระ นอกจากความสวย ต้องมีเสน่ห์ พรสวรรค์ และความสามารถในแบบฉบับของตัวเอง 

พูดง่าย ๆ ก็คือ สวยแล้วต้องฉลาดด้วย

ทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าคอร์สเรียน ร้องเพลง เต้น เพื่อเริ่มต้นฝึกฝนเริ่มต้นสิ่งใหม่ ไปพร้อมกัน 

BNK 48 เปิดตัวครั้งแรกที่งานเจแปนเอ็กซ์โป อิน ไทยแลนด์ 2017 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560

หลังจากมีการซักซ้อมและฝึกฝนอย่างหนัก จึงได้เปิดตัวเป็นทางการในวันที่ 2 มิ.ย.2560 ณ ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มควอเทียร์ ความสำเร็จลำดับแรกคือยอดขายแผ่นซีดีเพลง 2 ซิงเกิ้ล รวมกัน 43,500 แผ่น มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ขายบัตร Founder Member BNK ได้แล้วกว่า 400 ใบ มูลค่า 8.0 ล้านบาท ตั้งเป้าจะเพิ่ม Member ปีนี้ 100 ล้านบาท

แฟนคลับวง BNK48 หรือโอตะ มี Engagement กับวงสูงมาก เป็น User Generated Content ที่ช่วยโปรโมทวงและศิลปินอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่คลิกดูและกดไลก์เท่านั้น แต่ช่วยแชร์ และนำคอนเทนต์ มาโปรเซสซิ่งแล้วส่งต่อ BNK 48 ใช้กลยุทธ์สร้างคอนเทนต์แล้วใช้ช่องทาง Social Media ขยายความนิยม มีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้สมาชิกแต่ละคนขึ้นมาไลฟ์สดผ่านแอปพลิเคชั่นVOOV เพื่อสร้าง Engagement กับโอตะ ทุกครั้งที่สมาชิกไลฟ์สดลงเพจยอดรีชและเอ็นเกจเมนต์แต่ละครั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 400,000 เป็นรูปแบบการสื่อสารสองทางที่วัดผลได้ มีการสร้างคอนเทนต์อยู่ตลอด 

นอกจากแอพพลิเคชั่น VOOV ยังไลฟ์ผ่าน Digital Live Studio หรือที่เรียกว่าตู้ปลาวันละ 4-6 คน นอกจากนี้ยังมีรายการทีวี ออกโรดโชว์ รายการตามไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว ทำอาหาร เพื่อให้โอตะไปทำ User Generated Content แชร์ต่อไป และให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน(Sustainable)ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในยุค Digital ด้วยแคมเปญ อีเวนท์ และคอนเทนท์ เพื่อรักษา Momentum ให้อยู่ในความนิยมตลอดไป

BNK 48 เป็นตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคของการ Disruption ที่ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในอดีตถูกทำลายลงด้วย Digital Transformation ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจในวงการบันเทิงบ้านเรา ท่านผู้ประกอบการยุคใหม่เตรียมพร้อมหรือยังครับ

แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ...!