เศรษฐกิจจีนโตช้ากับเงินลงทุนต่างประเทศขาออก

เศรษฐกิจจีนโตช้ากับเงินลงทุนต่างประเทศขาออก

บทความก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่แปรผันไปตามปริมาณเงินหยวนไหลเข้า/ออกสุทธิ โดยที่ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่อง

จากการบริหารจัดการ และค่าเงินหยวนที่อ่อนลงตั้งแต่ปี 2014 เป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลการไหลออกของเงินลงทุนต่างประเทศโดยตรงของจีนในต่างประเทศ ที่ประจวบกับเงินลงทุนต่างประเทศโดยตรงที่เข้ามาในจีนได้ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน ช่วงท้ายของบทความดังกล่าวได้สันนิษฐานไว้ว่า การชะลอตัวของเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ 

ตารางที่ 1 แสดงมูลค่า จีดีพี การลงทุน ของจีนพร้อมๆ กับสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี อัตราการเพิ่มของการลงทุน มูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศโดยตรงไหลเข้าจีนสุทธิ และสุดท้าย อัตราการเพิ่ม/ลดของเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าสุทธิ ข้อมูลจากตารางแสดงให้เห็นว่า อัตราการเพิ่มสูงสุดของการลงทุนมักจะมาคู่กับอัตราการเพิ่มสูงสุดของเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า และมักจะนำหน้าอัตราการเพิ่มสูงสุดของจีดีพี ความสัมพันธ์นี้อาจแปลความหมายได้ว่า การไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศและตามมาด้วยอัตราการขยายตัวสูงสุดของจีดีพี เช่น ในช่วงต้นศตวรรษ 1990 กลางทศวรรษ 2000 และ ต้นทศวรรษ 2010 

เศรษฐกิจจีนโตช้ากับเงินลงทุนต่างประเทศขาออก

โปรดสังเกตด้วยว่า อัตราการลดลงของเงินทุนโดยตรงไหลเข้าสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ต่ำสุด ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และกลางศตวรรษ 2010 ที่ผ่านมา ลักษณะเช่นนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า การไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงสุทธิตั้งแต่ปี 2014 เป็นปัจจัยที่ทำให้การลงทุนชะลอตัวลง และ อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 10% มาเหลือ 6% ในปัจจุบันนี้ 

Ali J. Al-Salig (2013) แห่ง IMF ได้นำเสนอผลการวิจัยว่า การไหลออกของเงินลงทุนโดยตรง ตรงส่งผลทางลบต่อการลงทุนภายในประเทศของประเทศกำลังพัฒนา 121 ประเทศ Ameer, Xu and Alotaish (2017) แห่ง Economic Research-Ekonomska Istrazivanja ได้ทำการวิจัยผลกระทบของเงินลงทุนต่างประเทศขาออกต่อการลงทุนภายในของจีนโดยเฉพาะและพบว่า การไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศเป็นสิ่งที่ทดแทนกันโดยตรงกับการลงทุนภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากเงินทุนที่มีจำกัดของธุรกิจแต่ละองค์กร ส่วนการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การลงทุนภายในประเทศขยายตัวควบคู่กันไปด้วย 

การทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ข้างต้นจะต้องทราบเป็นเบื้องต้นว่า การขยายการลงทุนขององค์กรธุรกิจ หมายความว่า องค์กรธุรกิจนั้นๆ จะต้องมีเงินกองทุน เป็นเบื้องต้นเพื่อทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อสมทบกันเป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการที่เพิ่มขึ้น มิฉะนั้น สถาบันการเงินจะไม่ให้เงินกู้ยืมตามหลักการป้องกันความเสี่ยง อันนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันดับต่อไปจะต้องทราบว่า การลงทุนต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนามักเป็นการเพิ่มธุรกิจในต่างประเทศที่มีลักษณะเดียวกับธุรกิจส่วนที่อยู่ภายในประเทศ โดยเฉพาะจีนที่มีการลงทุนแสวงหาวัตถุดิบเหมืองแร่ในต่างประเทศ หรือ เป็นการลงทุนผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดที่มีเงื่อนไขเข้มงวดต่อสินค้าที่ผลิตจากจีนโดยตรง (U.S.-China Economic & Security Review Commission, 2011) 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้แต่ญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นสิ่งทดแทนการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1990 ทั้งนี้เนื่องจาก การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในต่างประเทศมักจะเป็นการย้ายฐานไปทั้งหมด ตั้งแต่ชิ้นส่วนไปจนถึงสินค้าขั้นสุดท้าย และทำให้การผลิตที่เป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีหายไปมาก แม้ว่าอาจจะมีธุรกิจใหม่ๆ มาทดแทนบ้างก็น้อยเต็มที 

กรณีของสหรัฐและเยอรมันนีเป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งการลงทุนภายในประเทศและการขยายตัวของจีดีพีไม่ได้ชะลอตัวลง สิ่งที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ การผลิตทางอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงในสหรัฐถูกทดแทนด้วย การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศ การแพทย์ และ เหมืองแร่ นั่นเป็นส่วนของมหภาค ในระดับจุลภาคหรือธุรกิจนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของ Apple ที่มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ แม้ว่าจะมีการลงทุนในต่างประเทศก็ตาม นี่คือกรณีที่การลงทุนโดยตรงต่างประเทศเกิดขึ้นควบคู่กับการลงทุนในต่างประเทศและไม่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลง 

สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของจีนอาจจะยังมีระดับเกินกว่า 40% ก็จริง แต่ก็ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2011 แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ตระหนักในเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิที่ลดลงเรื่อยๆ และมีการผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุน ตั้งแต่ต้นปี 2017 อีกทั้งได้ประกาศเพิ่มการลงทุนภาครัฐบาลเป็นการชดเชย แต่เหนืออื่นใด รัฐบาลจีนไม่ได้ตระหนักถึงคือ การลงทุนภายในประเทศของภาคธุรกิจที่ถูกทดแทนด้วยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของธุรกิจขนาดใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลจีน ทั้งการแสวงหาวัตถุดิบและการตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวน้อยกว่าการลงทุนในกำลังการผลิตของภาคธุรกิจ 

เหนืออื่นใดที่รัฐบาลจีนมองข้ามไปคือ การลงทุนต่างประเทศเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนต่างประเทศคงไม่ทราบว่า การใช้บุคลากรท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะอำนวยให้การลงทุนนั้นๆ มีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่นั่นก็ต้องใช้การคัดกรองที่จะต้องใช้เวลามาก อีกทั้งการสร้างบุคลากรของบริษัทแม่ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการคัดกรองทุกรายละเอียดของการลงทุนก็ต้องใช้เวลามากเช่นเดียวกัน  

ดังนั้น เราคงจะคาดคะเนได้ว่า การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนคงจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนต่อไป และ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศคงไม่อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้า ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อไป