คำคม/วันเกิด นักคิดนักเขียนโลก/ไทย

คำคม/วันเกิด นักคิดนักเขียนโลก/ไทย

“ถึงแม้ว่าไม่มีใครยอมรับ, นักเขียนคือผู้นำในสังคมของเขา” อนันตา ตอร์ ปราโมทยา(1925-208) นักเขียนนวนิยาย นักต่อสู้เพื่อเอกราช ชาวอินโดนีเซีย

นี่คือหนังสือเล่มล่าสุดของผม เป็นหนังสือสารานุกรมประวัติย่อ คำคม และวันเกิด ของนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ทั้งของโลกและไทย รวมแล้วราวเกือบพันคน จัดเรียงลำดับตามวันเกิดตามปฏิทินจาก 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ขณะเดียวกันก็ทำดัชนีค้นชื่อนักคิดนักเขียน เรียงตามตัวอักษร A-Z และ ก–ฮ ไว้ท้ายเล่ม ที่ผู้อ่านจะใช้ค้นหาชื่อบุคคล, ประวัติย่อ, คำคมของแต่ละคนตามลำดับตัวอักษร เหมือนการค้นพจนานุกรม/สารานุกรมได้ นอกจากนักเขียนวรรณกรรมเรื่องแต่งแล้ว ยังรวมนักปรัชญา นักวิชาการสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือที่มีอิทธิพล/มีชื่อเสียงด้วย สำหรับนักคิดนักเขียนไทยน่าจะเป็นหนังสือที่รวบรวมวันเกิดได้มากที่สุดเท่าที่เคยพิมพ์กันมา แม้จะยังคงไม่ครบถ้วนเพราะเรื่องเวลาเกิดนักเขียนไทยหายากกว่าของต่างประเทศ

เรื่องวันเกิดของคนแต่ละคนนั้น คนจำนวนหนึ่งมักจะมองเชื่อมโยงกับวิชาโหราศาสตร์ว่าอาจจะบอกถึงบุคลิก นิสัยใจคอ หรือชะตากรรมของบุคคลที่เกิดในวันนั้นหรือราศีนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่ง หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าตนเองเกิดตรงหรืออยู่ในราศีเดียวกับนักคิดนักเขียนคนไหน หรือนักคิดนักเขียนที่ตนชอบเกิดวันไหน ราศีอะไร

คำคม/วันเกิด นักคิดนักเขียนโลก/ไทย

สำหรับคนที่ไม่สนใจหรือไม่เชื่อเรื่องความหมายของวันเกิด หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นสารานุกรมรวมประวัติย่อ คำคม และบทกวีของนักคิดนักเขียนที่มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ ทั้งผู้เรียบเรียงยังได้ใส่วันที่ระลึกที่สหประชาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ได้มีมติกำหนดให้เป็นวันสำคัญของโลก ในเรื่องที่เห็นว่ามนุษยชาติควรตระหนักร่วมกันไว้ด้วย

ตัวอย่างเช่นนักคิดนักเขียนที่เกิดวันที่ 1 ม.ค. แต่ปีต่างกัน มีตั้งแต่ J.D.Salinger, E.M.Rorster ครูเทพ, พระมงกุฎเกล้าฯ, แย้ม ประพัฒน์ทอง, ประยอม ซองทอง, หยก บูรพา นักคิดนักเขียนที่เกิดวันที่ 20 เม.ย. มีทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คนที่วันเกิด 28 พ.ย. มีทั้งจอห์น บันยัน, วิลเลี่ยมเบลค, เฟเดอริคส์ เองเกลส์ และอัลแบรโต โมราเวีย และผู้เขียน เป็นต้น

นอกจากวันเกิดของและประวัติย่อของนักคิดนักเขียนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือคำคม (Quotation หรือคำคัดอ้าง) ของนักคิดนักเขียนที่ผมคัดเลือกและแปลมา คำคมคือประโยคสั้นๆ ที่โดดเด่น มักให้ข้อคิดที่มีสาระสำคัญที่สะท้อนตัวตนความคิดหลักของนักคิดนักเขียนคนนั้นๆ และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของมนุษยชาติ เหมือนกับที่เรอเน่ เดสคาร์ต (1596-1650) นักปรัชญา/นักวิทยาศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวว่า การอ่านหนังสือดีเหมือนตัวเราได้กลับไปคุยและเรียนรู้จากคนที่ดีที่สุดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา เป็นการสนทนาที่มีการเตรียมการอย่างดี ที่นักเขียนจะเสนอส่วนที่ดีที่สุดของความคิดของพวกเราเท่านั้น

มีคำคมมากมายให้ข้อคิดที่เป็นสากลสำหรับคนทุกยุคสมัย รวมถึงคนรุ่นเราได้ ในที่นี่ขอยกตัวมาเพียงส่วนหนึ่ง

หนังสือที่จะมีอิทธิพลต่อเราคือ หนังสือที่เรามีความพร้อมที่จะอ่าน และเป็นหนังสือที่ก้าวไปได้ไกลกว่าหนทางที่เราจะเดินไปได้เองสักระยะหนึ่ง

อี เอ็ม ฟอร์สเดอร์ (1 ม.ค. 1879-1970)

เราต้องการการปฏิวัติใหม่ทุก 200 ปี เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 200 ปี รัฐบาลทั้งหมดจะเสื่อมทรามและฉ้อฉล

เบนจามิน แฟรงคลิน (17 ม.ค. 1706-1790)

หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา และนักวิทยาศาสตร์

เหมือนกับอำนาจในรูปแบบใดก็ตาม คนที่ท้องอิ่มมักจะเย่อหยิ่งอวดดี และแสดงออกอย่างแรกที่สุด โดยการที่คนท้องอิ่มชอบพูดจาสั่งสอนคนที่หิวโหย

แองตอน เชคอฟ (29 ม.ค. 1860-1904)

นักเขียนเรื่องสั้นและบทละครชาวรุสเซีย

เมื่อรัฐบาลตั้งใจที่จะช่วยไม่ใช้เรายุ่งยากในการคิดเพื่อตัวเราเอง, ผลอย่างเดียวที่จะตามมาคือการทำให้ประชาชนเฉื่อยชา และโง่เขลาเบาปัญญา

วิลเลี่ยม กอดวิน (3 มี.ค. 1756-1830)

นักปรัชญาแนวอนาธิปไตยและอรรถประโยชน์นิยมชาวอังกฤษ

แบ่งปันส่วนที่เรามีเหมือนกัน, ชื่นชมส่วนที่เราแตกต่างกัน

เอม สก๊อต เปค (21 พฤษภาคม 1936-2005)

จิตแพทย์ชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือขายดี เรื่อง The Road Less Travelled

ฉบับแปลเป็นไทยชื่อ บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก พิมพ์โดย OMG Books

เจ้ากรรมกรเอย อยู่ในนาคร หรือป่าดอนชนบท เวลาเป็นของเขา ไม่ใช่ของเจ้าทั้งหมด ขาดเงินทองก็ต้องอด ทุกสิ่งกำหนดค่าเอย

ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) (1 มกราคม พ.ศ. 2419-2489)

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเพื่อนหนังสือ (Facebook: มูลนิธิเพื่อนหนังสือ) โทร/ไลน์ 094-2037475 จัดจำหน่ายโดยสายส่งเคล็ดไทย