ตลาดหุ้นไทยท่ามกลาง ‘วิกฤตการเงินตุรกี’

ตลาดหุ้นไทยท่ามกลาง ‘วิกฤตการเงินตุรกี’

ความเสี่ยงของวิกฤตการเงินประเทศตุรกีจะกระจายตัวไปสู่ประเทศยุโรปหรือไม่

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ยังคงเดินตามนโยบายของตนที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงระดับปกติที่ 3-3.25% (ระดับค่าเฉลี่ยระยะยาว) จนกว่าจะเห็นผลกระทบของการกีดกันการค้าอย่างชัดเจนต่อ การจ้างงาน การผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนเอกชนของประเทศ

แม้ว่าประเทศอาร์เจนติน่า (ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยประมาณ 1.5 เท่า)จะมีปัญหาการเงินและต้องร้องขอความช่วยเหลือจาก International Monetary Fund (IMF) ไปก่อนหน้า ตามมาด้วยประเทศตุรกี (ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยเกือบ 2 เท่า) ซึ่งดำเนินนโยบายมุ่งเน้นเศรษฐกิจเติบโตผ่านการกู้หนี้มหาศาลก็กำลังสั่นคลอนจากกระแสเงินไหลออก อัตราดอกเบี้ยแพงหูฉี่ระดับ 19.25% ราคาค่าครองชีพ อาหารพุ่งกว่า 19% อัตราคนว่างงาน 9.7% และสัดส่วนตัวเลขหนี้ต่างประเทศ/สำรองเงินต่างประเทศของประเทศตุรกีสูงถึง 3.75 เท่า ส่งผลให้ค่าเงินเทียบกับดอลลาร์สหรัฐลดลงไปกว่า 43% ภายในระยะเวลาเพียง 12 เดือน หากพิจารณาจากเงินสำรองประเทศเทียบกับมูลค่าสินค้านำเข้าราว 7 เดือน แสดงว่าตุรกีสามารถทนทานการวิ่งเข้าหา IMF ได้ซักระยะหนึ่ง (ปัจจุบัน รัฐบาลวิ่งขอความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรอื่นก่อน เนื่องจากประเด็นการเมือง)

ความเสี่ยงของวิกฤตการเงินประเทศตุรกีจะกระจายตัวไปสู่ประเทศยุโรปหรือไม่ คงมีผลกระทบอยู่แล้วจากเม็ดเงินหลายประเทศเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลตุรกี แต่ธนาคารกลางยุโรปคงต้องประคับประคองสถานการณ์อย่างเต็มที่ เนื่องจากการพลิกคว่ำของเศรษฐกิจครั้งใหม่จะยากกว่าเดิมกว่าที่จะเยียวยา หากพิจารณาจากตัวเลขที่นักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรเทียบกับเม็ดเงินโดยรวมในกลุ่มประเทศอียู ถือว่าไม่น่ากลัวนัก

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านประสบการณ์วิกฤตการเงินเมื่อ 20 ปีก่อน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่จัดระเบียบการเงินเข้มงวดโดยใช้เงินกู้เทียบกับทุนไม่สูงนัก เฉลี่ยราว 50% ของทุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถฝ่าคลื่นลมครั้งนี้ได้อย่างแข็งแรง ส่วนรัฐบาลเองรายงานการกู้เงินไม่สูงเช่นกันที่ระดับ 41.8% เทียบกับ GDP ขณะที่เงินสำรองต่างประเทศไทยแตะ 2.04 แสนล้านสรอ.เทียบกับหนี้ต่างประเทศที่ 1.52 แสนล้านสรอ. สถานะการณ์ดูปลอดภัยมากสำหรับประเทศไทยที่ห่างไกลจากสภาวะชํอค หากวิกฤตเกิดขึ้น เราจะสามารถมีเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจได้ต่อ และฟื้นได้เร็วเฉกเช่นวิกฤตการเงินในสหรัฐเมื่อ 10 ปีก่อน

ไม่เพียงแต่ไทยจะมีหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่ต่ำ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเซีย และลาตินหลายประเทศก็มีสัดส่วนหนี้/GDP ไม่สูงมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าในรอบนี้จึงดูเหมือนกระทบต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ไม่มากเท่าไรนัก

สำหรับงบกำไรไตรมาส 2/2561 ที่ประกาศออกมา ทีมวิจัยบล.บัวหลวง พบว่า จำนวนบริษัทที่สามารถเพิ่มรายได้ และกำไรได้มีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงว่า บริษัทเริ่มได้รับผลดีจากภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา โดยทีมนักวิเคราะห์ของบล.บัวหลวง ยังคงประมาณการกำไรบริษัทโดยรวมไว้ที่เดิม

นอกจากนี้ เราประเมินว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2561 นี้น่าจะรายงานอัตราเติบโตได้ราว 16% ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะผลกำไรจากการดำเนินงานก็จะยังคงโตได้ประมาณ 6% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน โดยคาดการณ์อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 3% ณ.ระดับดัชนีตลาดหุ้นปัจจุบัน ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังให้อัตราผลตอบแทนที่จูงใจต่อนักลงทุนหากดัชนีฯปรับตัวลง

กลุ่มธุรกิจที่เราคาดว่าจะยังคงรายงานกำไรเติบโตได้ดีในไตรมาสสาม คือ ปิโตรเคมี การเงิน สินเชื่อรายย่อย พาณิชย์ค้าปลีก ท่องเที่ยว ขนส่ง และสื่อสาร