กลยุทธ์ดันธุรกิจรอด

กลยุทธ์ดันธุรกิจรอด

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในหลายรูปแบบที่มากไปกว่าประเด็นที่คุ้นเคย

บางเจ้าชูเรื่องความรู้สึกของการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว หรือไม่ก็เน้นเรื่องนวัตกรรม หรือ Life Style แต่โดยเนื้อหาแล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเภทที่อยู่อาศัยนั้น ก็เหมือนกับธุรกิจทั่วไปคือ Core Value ไม่เปลี่ยน ขณะเดียวกันลูกค้าเองก็เน้นการเลือกซื้อที่คุณภาพผลิตภัณฑ์ ทำเล และราคามาก่อนเสมอ หากจะเปรียบเทียบกับร้านอาหาร ก็ต้องบอกว่า ต้องอร่อยก่อน ส่วนจะตกแต่งร้านสวยหรือไม่ พนักงานบริการดีแค่ไหนมาเป็นเรื่องรอง

เฉกเช่นเดียวกับการตัดสินใจเลือกซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ที่พอเวลาถามถึงว่าบ้านที่ดี คืออะไร Product Value เป็นตัวตอบโจทย์ในการเลือกซื้อสำหรับกระบวนการในการสร้าง Product Value นั้นประกอบด้วยตัวอักษรสำคัญหกตัว คือ Q-C-S-E-S+P ที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรายต้องให้ความสำคัญ รวมถึง Supply Chain ซึ่งหมายถึง ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เสมือนเป็นวงดนตรีเดียวกันที่เพียงมองตา ก็รู้ว่าจะเล่นเพลงอะไร

เริ่มจาก Q-Quality of Product คือ คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่หมายถึงความคุ้มค่าของสิ่งที่ลูกค้าได้รับกับจำนวนเงินที่จ่ายไป คุณภาพนั้นยังสื่อถึงความทนทานและง่ายต่อการดูแลของผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ไปตลอดชีวิต C-Cost Control and Management หมายถึงความรับผิดชอบต่อต้นทุนทั้งในการจัดตั้งและบริหารตรลอดเส้นทางการพัฒนา เพื่อทำราคาขายให้ลูกค้าสามารถซื้อเป็นเจ้าของได้ ถัดมา S-Speed of Delivery คือ ความรวดเร็วของการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าตามกำหนดเวลาหรือเร็วกว่า ทั้งเพื่อช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างและลดความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการทำงานและความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนงาน (หากในกรณีทั่วๆ ไป ตัว S จะหมายถึง Schedule ซึ่งคือเป็นไป “ตามแผน” ไม่ใช่เร็วกว่าแผน)

ทั้งสามตัวอักษร คือคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องมี เพื่อให้การบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม แต่สำหรับ LPN แต่จะมีตัวอักษรอีกสามตัวที่สำคัญ เป็นสัญลักษณ์ของการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คือ E-Environmental 

Responsibility ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะขั้นตอนของการก่อสร้างนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่ฝุ่น เสียง และน้ำเสีย ตัวอักษรต่อมาคือ S-Safety of Workers andParticipantsเป็นมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้าง และตัวสุดท้ายคือP-People Management หมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการโดยตรง โดยหลักมี 2 กลุ่มคือ แรงงาน และผู้อาศัยข้างเคียงในส่วนของแรงงาน นอกจากจะทำงานอย่างปลอดภัยตามที่กล่าวมาแล้ว ยังจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขอนามัยในการอยู่อาศัย มีความปลอดภัยในการพักอาศัย รวมถึงได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วย ส่วนผู้อาศัยข้างเคียงต้องได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการให้น้อยที่สุด และหากมีความเดือดร้อนหรือความเสียหายเกิดขึ้น ทางผู้จัดการที่หน้างานต้องเข้าแก้ไขทันที

การตามรอยกลยุทธ์ Q-C-S-E-S+P เป็นหลักที่เปิดให้ทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างสามารถนำไปใช้ได้ และจะทำให้เกิดผลบวกต่อการทำงาน มีการพัฒนาและประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน