ภาษีคาร์บอนเครดิตและข้อสังเกตบางประการ

ภาษีคาร์บอนเครดิตและข้อสังเกตบางประการ

ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) เป็นก๊าซที่มีอยู่โดยทั่วไปในธรรมชาติ การมีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในชั้นบรรยากาศในระดับที่เหมาะสม

ทำให้อุณหภูมิของโลกมีความคงที่ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟาเรดได้ดี หากในชั้นบรรยากาศไม่มีก๊าซเรือนกระจกแล้วระดับอุณหภูมิของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบวันซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ อย่างไรก็ดี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินไปก็ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (global warming) และส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ในที่สุดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

จากปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจนนำมาสู่ภาวะโลกร้อนส่งผลให้นานาประเทศ สร้างความร่วมมือกันในการดำเนินการเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่างๆ ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผลผูกพันให้ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินมาตรการใดๆ ภายในประเทศของตนเองเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกได้มีการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

การดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยมลภาวะ (emission trading scheme) ที่มีการนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยมลภาวะจะดำเนินการผ่านระบบตลาดซื้อขายคาร์บอน (carbon market) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจเป็นตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ (mandatory carbon market) และตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (voluntary carbon market) แล้วแต่กรณี โดยทั่วไปแล้วผู้ปล่อยมลภาวะแต่ละรายสามารถนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองสามารถลดการปลดปล่อยลงได้ตามระดับหรือเกณฑ์ที่กำหนดไปจำหน่ายแก่ผู้ปล่อยมลภาวะรายอื่นที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าระดับหรือเกณฑ์ที่กำหนด กระบวนการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศหรือภายนอกประเทศก็ได้

หากพิจารณาในทางธุรกิจแล้ว คาร์บอนเครดิตหรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่ง สำหรับภาคธุรกิจที่มีศักยภาพ เนื่องจากภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ตนเองมีไปจำหน่ายให้กับภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายอื่นได้ ซึ่งส่งผลเป็นการสร้างรายได้ให้แก่กิจการของตนเอง สำหรับในทางกฎหมายภาษีอากรแล้วการมีรายได้ของกิจการย่อมส่งผลทำให้กิจการต้องนำรายได้จำนวนดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้หรือเสียภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตหรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในการดำเนินการโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่กำหนดในแต่ละโครงการเฉพาะส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตไม่ว่าจะกระทำในหรือนอกประเทศเป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด แต่หากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดแล้วก็จะต้องนำกำไรสุทธิมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

ส่วนปัญหาที่ว่าการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั้น กรมสรรพากรวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า คาร์บอนเครดิตถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างและอาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้หรือเพื่อการใดๆ จึงเข้าลักษณะเป็นสินค้าและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่กรณีได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาแล้วแต่กรณี หากผู้ขายคาร์บอนเครดิตเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายแล้วก็มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเป้าหมายหลักของการสร้างระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยมลภาวะเกิดขึ้น จากเหตุผลด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ จนกระทั่งมีการนำระบบดังกล่าวมาผูกโยงกับการเป็นเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งนำมาสู่การมีรายได้และการเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันภาครัฐพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ แม้อาจทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าปัจจัยด้านราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการของผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะความผันผวนของราคาคาร์บอนเครดิตประกอบกับปัจจัยด้านภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตของผู้ประกอบการ และปัจจัยด้านมูลค่าการลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยจะได้รับความนิยมและสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่นั้น จึงต้องอาศัยระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป

โดย... 

ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์