รู้จัก“ภาษีลาภลอย” เรื่องใหม่อสังหาฯไทย

รู้จัก“ภาษีลาภลอย” เรื่องใหม่อสังหาฯไทย

หลังจากที่มีการโยนหินถามทางมาตั้งแต่หลายปีก่อน เมื่อกลางเดือนก.ค.ที่่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้เคาะภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax)

ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำหนดจัดเก็บไม่เกิน 5% ของฐานภาษี โดยหากผ่านการพิจารณาทุกขั้นตอนแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ในปี 2562 ซึ่งจะมีผลต่ออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐภายในรัศมี 5 กิโลเมตร อาทิ รถไฟฟ้า ทางพิเศษ ไฮสปีดเทรน รถไฟรางคู่ ท่าเรือและสนามบิน เป็นต้น 

แน่นอนครับว่าการประกาศใช้ภาษีลาภลอยนี้จะมีผลต่อราคาอสังหาฯ งานนี้ใครมีแผนจะซื้อหรือขายอสังหาฯ ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวต้องทำความเข้าใจกันพอสมควรครับ เพราะเรื่องนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ และสหรัฐ รวมถึงฮ่องกง ใช้กันมานานแล้ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีที่รัฐไปลงทุนพัฒนาในโครงการต่างๆ แต่สำหรับสังคมไทย ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมาทำความเข้าใจกันครับ

อย่างไรก็ตาม ภาษีลาภลอยนี้ทางกระทรวงการคลังได้ใช้เวลาศึกษามาหลายปี โดยหลักการแล้วการนำมาใช้จะไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป เพราะได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีลาภลอยคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงการของรัฐ นั่นคือผู้ที่ครอบครองที่ดินและห้องชุดเชิงพาณิชย์มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งภาษีลาภลอยนี้จะคำนวณเฉพาะส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อโครงการสาธารณูปโภคจากภาครัฐสร้างเสร็จ เช่น หากราคาห้องชุดมีต้นทุน 50,000,000 บาท เมื่อโครงการของรัฐก่อสร้างเสร็จแล้วมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 52,000,000 บาท ส่วนที่จะนำมาคิดภาษีลาภลอย 5% ก็คือส่วนต่างที่เพิ่มมา 2 ล้านบาท

สำหรับข้อดีของภาษีลาภลอย จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษีในแง่ที่ผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการของรัฐ จะได้มีส่วนร่วมในเงินภาษีที่จะถูกนำไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่มากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้หลายท่านอาจยังสงสัยว่าโครงสร้างพื้นฐานของรัฐนั้นมีส่วนช่วยทำให้ราคาอสังหาฯโดยรอบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน และคุ้มค่าหรือไม่กับการต้องจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้น 

เรื่องนี้พอจะมีคำตอบให้ครับ โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้สำรวจและเปรียบเทียบราคาอสังหาฯแนวรถไฟฟ้าย้อนหลังในพื้นที่บางหว้า พบว่า ช่วงก่อนก่อสร้างรถไฟฟ้า ราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่บางหว้าในปี 2550 เฉลี่ยราคา 35,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ปี 2551 ที่เริ่มเห็นความพร้อมของการเตรียมก่อสร้างรถไฟฟ้า ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 54,000 บาทต่อตารางเมตร เติบโตขึ้น 54% 

โดยเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2552 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2556 ล่าสุดสิ้นปี 2560 พบว่า ราคาคอนโดใหม่ในพื้นที่บางหว้า เฉลี่ยตารางเมตรละประมาณ 80,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 9%

อย่างไรก็ตามมุมมองในฝั่งของผู้บริโภค ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมในด้านราคาซื้อห้องชุดที่อาจแพงขึ้นจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น แต่หากมองอีกมุมในแง่ที่ว่าโครงการนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ก็นับว่าน่าสนใจในด้านการลงทุนขายต่อหรือปล่อยเช่าที่ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นในวันข้างหน้า ดังนั้นหากใครที่กำลังลังเลในการตัดสินใจซื้อห้องชุดแนวรถไฟฟ้าก็ถือว่ายังพอมีเวลาเลือกดูกันไปก่อนที่ราคาใหม่จะปรับขึ้นครับ