ความแตกต่างระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับพระมหากษัตริย์ภายใต้

ความแตกต่างระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับพระมหากษัตริย์ภายใต้

มีผู้อธิบายว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองคนเดียวที่มีอำนาจอันชอบธรรมสูงสุด และอำนาจนี้

ไม่ถูกจำกัดตีกรอบโดยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ หรือโดยองค์กรนิติบัญญัติใดๆหรือโดยจารีตประเพณีใดๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาบันพระมหากษัตริย์มักจะสืบสายโลหิต แต่ก็ไม่เป็นจำเป็นเสมอไป”  

ส่วน พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็น “ระบบการปกครองที่องค์พระมหากษัตริย์แบ่งปันอำนาจกับองค์กรการปกครองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์พระมหากษัตริย์ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นประมุขของรัฐหรือเป็นเพียงผู้นำในทางพิธีการเท่านั้น รัฐธรรมนูญ (ในรูปแบบการปกครองแบบนี้/ผู้เขียน) จะจัดการแบ่งสันอำนาจการปกครองที่เหลือให้กับองค์กรนิติบัญญัติและตุลาการ” 

 และเมื่อนำคำอธิบายจากข้างต้นมาสังเคราะห์ จะได้ความว่า การปกครองทั้ง 2 แบบนี้ มีความเหมือนกัน ประการแรกคือ การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ประการที่ 2 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจ นอกนั้นคือ ความแตกต่างและความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ พระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระราชอำนาจที่ไม่ถูกจำกัดตีกรอบโดยกฎหมายหรือองค์กรสถาบันใดๆ และบางทีก็ไม่ถูกจำกัดแม้แต่จารีตประเพณีด้วย ส่วนพระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น พระราชอำนาจถูกจำกัดตีกรอบโดยกฎหมายหรือองค์กรสถาบัน 

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ พระราชอำนาจถูกจำกัดตีกรอบหรือไม่ถูกจำกัดตีกรอบ และถ้าจะพิจารณาจากความแตกต่างดังกล่าวนี้ จะพบว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การปกครองที่พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ไม่ถูกจำกัด และพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญถูกจำกัด จากจุดนี้ ทำให้เห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ การปกครองแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่เรียกว่า การปกครองที่จำกัดพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ หรือที่มีศัพท์เรียกว่า “ปรมิตตาญาสิทธิราชย์” (limited monarchy)  ซึ่งอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัดอีกทอดหนึ่ง (limited government) 

การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ การปกครองแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัด เพราะการจำกัดพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์มิได้จำกัดโดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่อาจจะจำกัดโดยองค์กรและสถาบันทางการเมืองได้ นั่นคือ องค์กรและสถาบันทางการเมืองเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดกรอบในการจำกัดพระราชอำนาจ รวมทั้งการตีความ ชี้ขาด และแก้ไขเนื้อหาสาระเกี่ยวกับพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy) ยังสามารถแยกย่อยลงไปได้อีกว่า การจำกัดพระราชอำนาจนั้น จำกัดในแบบไหน ถ้าจำกัดโดยรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ในลักษณะนี้ก็จะเข้าข่ายการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หากจำกัดพระราชอำนาจโดยรัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุดในการวางกรอบจำกัดพระราชอำนาจก็จะเข้าข่ายการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา (parliamentary monarchy)

ดังนั้น โดยเบื้องต้น ในการจัดแบ่งประเภทของรูปแบบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงควรแบ่งระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับปรมิตตาญาสิทธิราชย์ แล้วเมื่อเป็นปรมิตตาญาสิทธิราชย์ ในขั้นต่อไป จึงค่อยพิจารณาแบ่งออกเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา แม้ว่าเราจะทราบว่า การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา (parliamentary monarchy) อยู่ภายใต้ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ เพราะพระราชอำนาจถูกจำกัดตีกรอบ แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การจำกัดตีกรอบพระราชอำนาจนั้น ไม่ว่าจะในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา มีเกณฑ์หรือไม่ว่าจะต้องมีการจำกัดตีกรอบพระราชอำนาจแค่ไหน ถึงจะเข้าข่ายเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้ปรมิตตาญาสิทธิราชย์? หรือเพียงแค่มีการจำกัดพระราชอำนาจโดยรัฐธรรมนูญหรือโดยรัฐสภา แม้จะเป็นการจำกัดพระราชอำนาจไม่มากก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้ปรมิตตาญาสิทธิราชย์? 

ด้วยเหตุนี้เอง ที่นักรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองเปรียบเทียบ อย่าง Alfred Stepan, Juan J. Linz, และ Juli F. Minoves ได้สร้างตัวแบบขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ยังทรงปกครองและมีพระราชอำนาจไม่จำกัดในปัจจุบันว่า การปกครองที่กษัตริย์ยังทรงปกครองอยู่ (ruling monarchies) ขณะเดียวกัน นักวิชาการทั้ง 3 นี้ ก็เห็นด้วยว่า ในปัจจุบัน ตัวแบบที่เรียกว่า “การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) เป็นตัวแบบที่กว้างเกินไป ไม่เพียงพอที่จะใช้ในการทำความเข้าใจการพัฒนาประชาธิปไตยในการปกครองที่ยังมีพระมหากษัตริย์อยู่ 

โดย Stepan, Linz และ Minoves ได้ขยายความให้เห็นถึงความไม่พอเพียงของตัวแบบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกตัวอย่าง การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของจักรวรรดิเยอรมนี (Imperial Germany) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ว่าพระเจ้าไกเซอร์ ทรงปกครองตามรัฐธรรมนูญร่วมกับสภาล่าง ที่เลือกตั้งมาบนพื้นฐานของการให้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปแก่พลเมืองทุกคน และสภานิติบัญญัตินี้ก็มีอำนาจในการตัดสินกำหนดงบประมาณแผ่นดิน แต่พระเจ้าไกเซอร์ไม่เพียงแต่มีอำนาจส่วนพระองค์ในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี (the chancellor) และทรงมีพระราชอำนาจในการบัญชาการกองกำลัง แต่ยังทรงมีพระราชสิทธิ์ในการเรียกประชุมหรือปิดประชุมสภา ทั้ง 2 ระดับของสหพันธรัฐได้  สภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ Stepan, Linz และ Minoves เห็นว่า ระบอบการปกครองดังกล่าวมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ตีกรอบพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

พวกเขาจึงเสนอตัวแบบที่เรียกว่า democratic parliamentary monarchy หรือ DPM ที่จะต้องมีความแน่นอนชัดเจนว่า รัฐสภาจะต้องมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กระนั้นคำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ใน DPM ก็มีสถานะไม่ต่างจากตรายางเท่านั้น? ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใช่ พระราชอำนาจควรมีมากน้อยแค่ไหน? หรือขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคม?