กฎหมายในระบบสุขภาพ

กฎหมายในระบบสุขภาพ

เมื่อ 2 เดือนก่อน เป็นตัวแทน กมธ.สาธารณสุขประชุมที่ ก.พาณิชย์เป็นครั้งที่ 3 หัวข้อ คือ โครงการศึกษาเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กับสาขาบริการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพ

คณะทำงานแถลงความก้าวหน้าในการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการภูมิภาค และสรุปประเด็นปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องอาทิ - ไม่มีกฎหมายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆไม่มีกฎหมายที่รับรองเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ขาดการกำหนดมาตรฐานการให้บริการและการรับรองมาตรฐานเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีต่อธุรกิจ – ปัญหาการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์การบริการ – ปัญหาการควบคุมและกำกับดูแลวิชาชีพและการประกอบอาชีพ - ปัญหาการควบคุม กำกับ คุณภาพและบริการที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินงานได้ครอบคลุมและทั่วถึงพร้อมทั้งปัญหาการเลือกปฏิบัติ – กฎหมายระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลยังล้าสมัยไม่ครอบคลุม – ระบบประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ – บทบาทของรัฐในการเพิ่มโอกาสและขยายโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ - มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากร - มาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) - การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจบริการรักษาพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ – ความซับซ้อนยุ่งยากในการขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียน – การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ การเชื่อมโยงและการเข้าถึงระบบข้อมูลสารสนเทศอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจการคุ้มครองผู้ป่วยในส่วนของการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ปัจจุบัน สิทธิของผู้บริโภคยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเฉพาะปัญหาความปลอดภัยของผู้บริโภคการตีความกฎหมายที่เคร่งครัดและไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจังและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้แบ่งออกเป็น กลุ่มกฎหมาย และ ด้านการส่งเสริมสนับสนุน

ฟังคำอธิบายในรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ข้างต้นเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ผู้ที่แสดงความเห็นเป็นการลงในรายละเอียดของสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาสำหรับการทำธุรกิจสุขภาพ ไม่ค่อยมีประเด็นการรักษาพยาบาลมากนัก ซึ่งเป็นไปตามผู้ร่วมประชุมที่เป็นผู้แทนภาคส่วนด้านผู้ประกอบการรายย่อยด้านต่างๆโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผู้อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมรวมทั้งหมด 12 เรื่อง ที่ถือเป็นโจทย์ให้คณะศึกษาไปคิดต่อว่าถ้าจะพัฒนากฎหมาย ไม่ว่าแก้ไขปรับปรุงของเดิม หรือเสนอออกกฎหมายใหม่ควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง 1. ธุรกิจสุขภาพในปัจจุบันมีความเป็นพลวัตหรือ dynamic สูง กฎหมายจึงต้องยืดหยุ่น ปรับได้โดยอาศัยกฎหมายลำดับรองพวกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ไม่ใช่ต้องไปปรับแก้ที่ตัว พรบ. ซึ่งมีความยุ่งยาก ทำได้ยาก 2. ต้องมีการ balance ระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลกับการเปิดโอกาสให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆจากข้อมูลปฐมภูมิ หรือ primary data มากกว่าจะให้เฉพาะข้อมูลระดับทุติยภูมิ ที่ทำเป็นไฟล์ PDF เพราะเอาไปสังเคราะห์ต่อได้ประโยชน์น้อย 3. กระบวนการจดทะเบียนหรืออนุญาตต้องสั้นและกระชับมากขึ้น การขึ้นทะเบียนยาของ อย. บางเรื่องต้องผ่านเกือบ 180 ขั้นตอน ควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น 

4. ข้อมูลขั้นต้นมีความสำคัญ แต่ต้องมีการกำกับเชิงคุณภาพ เช่นกำหนดระดับสถาบันที่จะได้รับหรือเข้าถึงข้อมูล การaccredit สถาบันที่จะเข้าถึงข้อมูล เพื่อการวิจัย อาจกำหนดเพดานหรือติดดาว เรื่องนี้รัฐสภาสหรัฐกำลังพิจารณาออกกฎหมาย ควรติดตามเพราะเขาก้าวหน้ากว่าเรามาก 5. การบริการชาวต่างชาติมีสองด้านที่ควรพิจารณา คือมาตรฐานที่สามารถแข่งขันกับที่อื่นได้ รวมทั้งการรับประกันและการเยียวยา และอีกเรื่องคือความเชื่อมั่นในคุณภาพบริการที่ต้องทำให้เป็นไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย 6. เมื่อเป็นรูปธุรกิจจะเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นส่วนเสริมงานบริการสุขภาพของภาครัฐที่เป็นภาคบังคับ การทำธุรกิจที่จะเติบโตได้ต้องมีเรื่องของการลงทุน ระดมทุนได้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

7. บางเรื่องที่ไวต่อความรู้สึกของผู้รับบริการ เช่นเรื่องวัตถุอันตรายหรือเรื่องเครื่องกำเนิดรังสี ที่ใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ เช่นทันตแพทย์หรือโรงพยาบาลทั้งหลาย จะทำอย่างไรให้สามารถควบคุมได้ แต่ไม่ทำให้เกิดต้นทุนสูงขึ้นจนเกินไป เรื่องนี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการด้วย8. การเข้าถึงบริการต้องเป็นธรรมทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการ เช่นเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย (อาจต้องมีคู่มืออัตราค่ารักษาพยาบาล) เพื่อให้เป็นธรรม เท่าเทียม ชัดเจน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการคิดราคาตามอำเภอใจ 9. บทสรุปของการศึกษาครั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาเป็นอะไร จะเป็นการแก้ไขกฎหมายเก่าและออกกฎหมายใหม่หรืออย่างไร เพราะกระบวนการทางนิติบัญญัติมีความซับซ้อน ผลการศึกษาไม่สามารถทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายได้ทันที 10.สำหรับภาคเอกชนนั้น 

ประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแรงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก กลุ่มธุรกิจรักษาพยาบาลระดับต้นๆ ของประเทศไทย เช่น กลุ่ม รพ.กรุงเทพ รพ.บำรุงราษฎร์ ถือเป็นระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพที่ใหญ่เป็นอันดับ 5ของโลก กลุ่มธุรกิจสุขภาพมีรายได้และสินทรัพย์หลายแสนล้านบาทต่อปี มากกว่างบประมาณรายปีที่รัฐบาลอนุมัติให้ สปสช.ดูแลประชาชนผ่านสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสใช้บริการภาคเอกชนแบบครบวงจรได้มากขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ และค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป เกิดต้นทุนมหาศาลกับโรงพยาบาลรัฐที่ถึงกับขาดทุน ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้กำไรมหาศาลในแต่ละปี 

11. อยากให้คิดถึงเรื่องโรงพยาบาลจัดการตนเองของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศว่าจะทำได้อย่างไร เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและรายรับรายจ่ายได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ไม่ยึดติดกับกฎระเบียบของภาครัฐจนขาดทุนมหาศาล จะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลรัฐมีสถานะเป็นself support มีรายได้ดังเช่นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้กำไรมหาศาลในแต่ละปี และ 12. เรื่องสุขภาพอนามัยขั้นพื้นฐานนี้ ในปัจจุบันเรามี รพสต.ทั่วประเทศนับหมื่นแห่งการะจายอยู่ทุกตำบล มีเจ้าหน้าอนามัยนับแสนคน ถ้ามีการปรับปรุงกฎหมาย จะทำอย่างไรให้ รพสต. มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชาชน มีรายได้ของตัวเองเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการให้บริการชาวต่างชาติที่มาทำงานระดับล่างได้ใช้บริการ และสร้างรายได้ให้สถานพยาบาล

ใครที่อ่านจบคงรู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน