สืบเนื่องจากการบรรยาย ... ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล รุ่นที่ ๑๗

สืบเนื่องจากการบรรยาย ... ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล รุ่นที่ ๑๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีสติปัญญา เมื่อ ๑๔ สิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับนิมนต์ไปบรรยายธรรมให้ผู้พิพากษา

ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล รุ่นที่ ๑๗ ฟัง จัดโดย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ในหัวข้อ วิถีธรรม ... กับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล

การบรรยายธรรมให้ความรู้ผู้พิพากษาที่ผ่านงานมาในระดับนี้ จริงๆ แล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก พราะคนที่มีอาชีพตุลาการจะต้องมีอุดมคติธรรมเป็นพื้นฐาน ตั้งอยู่ในความสันโดษ มีความสงบในอาชีพผู้พิพากษานั่นหมายถึง มีสติปัญญา รู้จักคิดพิจารณา โดยเฉพาะเมื่อกล่าวกันว่า จิตใจของผู้ทำหน้าที่ตุลาการจะต้องตั้งอยู่ในความยุติธรรม มีความเป็นกลางของจิต ไม่ตกอยู่ในอำนาจอคติธรรม .. อยู่เหนือความครอบงำของความดีและความชั่ว

อาชีพนี้จึงต้องการบุคคลที่มีอุดมคติสูง... ซึ่งจะเป็นไปได้เมื่อดำรงตนอยู่ในฆราวาสธรรม ๔ เท่านั้น จึงจะมีสัจจะเป็นอุดมคติในจิตใจ เพื่อการพัฒนาตนไปตามวิถีธรรม มุ่งตรงต่อจุดหมายที่เป็นสัจธรรมในชีวิต

วิถีธรรม คือ กระบวนการพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามวิถี เพื่อมุ่งสู่ความถูกต้อง ดีงาม โดยมีหลักธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตสู่การประสบความสำเร็จในทางโลก (ฆราวาสธรรม) ด้วยการรู้จักฝึกตน ข่มใจ รู้จักควบคุมจิต รักษาใจ เพื่อลดละกิเลสไม่ให้ทำลายสัจจะที่ตั้งเป็นธงชีวิตไว้ ด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดหรือการกระทำของใครๆ ที่มีต่อเรา แต่แท้จริงแล้วเป็นการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเลสที่พยายามควบคุมจิตใจของเรา จึงต้องมีการรู้จักพิจารณา เพื่อสละ ละ วาง หรือนำกิเลสออกไปจากจิต ที่ควรจาคะหรือบริจาคทิ้งไป ไม่ควรมีอยู่ในตน

บุคคลที่มีสติปัญญา มีความฉลาดในธรรม ตั้งอยู่ในความไม่มัวเมาในความรักความชัง จึงควรทำหน้าที่ตุลาการตามคำนิยามของอาชีพนี้ นั่นหมายถึง บุคคลเหล่านี้ต้องเป็นผู้มีความรู้-ความเข้าใจในหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แม้จะเป็นเพียงขั้นเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อการดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับโลกอย่างมีธรรมคุ้มครองรักษา ดังหลักฆราวาสธรรมตามที่กล่าวมา

ผู้พิพากษาจึงควรมีหลักธรรมประจำจิตใจของตนเอง อันเป็นผลจากการศึกษาจนเข้าใจถึงสัจธรรมนั้น และเพื่ออยู่ในฐานะผู้รู้ธรรมได้จริง ก็จักสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นธรรม หรือจะต้องเป็นธรรม เพื่อดำเนินการบริหารหรือปกครองและแก้ไขปัญหาทั้งปวงอย่างเป็นธรรมได้
ความเป็นธรรม ... นี้ หรือที่กล่าวว่า ผู้พิพากษาจะต้องเป็นธรรม จะเกิดขึ้นได้ เมื่อบุคคลที่เข้าสู่อาชีพนี้จะต้องเป็นผู้มีฉันทะในการศึกษาธรรม.. เพื่อจักต้องเป็นผู้รู้ธรรมตามฐานะความเหมาะควรกับอาชีพ

เมื่อมีความรู้ธรรม .. เข้าสู่ความเป็นธรรมได้ตามที่กล่าว การก้าวไปสู่ฐานะจักเป็นผู้มีธรรมฺ จึงเกิดขึ้นได้จริง นั่นหมายถึง การมีความประพฤติทางกาย-วาจา-ใจ มั่นคงในศีลธรรม ที่พัฒนาเป็นกุศลกรรมทั้งกาย-วาจา-ใจ ... การมีธรรมในบุคคลที่เข้าสู่ความเป็นตุลาการเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหากบุคคลเหล่านี้ไม่พัฒนาให้ตนเองให้เข้าถึงความเป็นผู้มีธรรมแล้ว.. ย่อมที่จะส่งผลเป็นลบกระทบต่ออาชีพที่ต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยจิตใจที่มีธรรม (คุณธรรม-จริยธรรม)

การจะพูดว่า ท่านต้องดำรงอยู่ในพรหมวิหารธรรม เพื่อการขจัด .. อคติธรรมในจิตใจให้สิ้นไป ท่านต้องมีอิทธิบาทธรรม เพื่อการบริหารงานอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ.. ท่านต้องมีสังคหวัตถุธรรม เพื่อการมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน.. เพื่อการบริหารบุคคล .. สังคม .. สิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ รู้รักสามัคคี... จักเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากจิตใจไม่มีธรรม

แม้จะยกบทธรรมวิเศษใดมาบรรยาย เพื่อแนะนำสั่งสอนให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาปฏิบัติ .. ก็คงยากยิ่งที่จะนำไปสู่ประโยชน์ หากหัวใจของบุคคลทั้งหลาย โดยเฉพาะในฐานะอาชีพที่ต้องเคารพธรรม.. หากแต่ไม่ใส่ใจที่จะศึกษาธรรม เพื่อจักเป็นผู้รู้ธรรม.. เพื่อจักเป็นธรรม.. เพื่อจักมีธรรมในการดำเนินชีวิตไปตามวิถีธรรม.. ในวิถีโลก

หากเป็นไปเช่นนั้น ย่อมเกิดความล้มเหลวในการสร้างธรรมให้เกิดขึ้นในบุคคล .. สังคม ...และนั่นคือจุดอันตรายของมนุษยชาติในทุกสมัย

ดังนั้นในการไปบรรยายครั้งนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำพระสัทธรรมขึ้นบูชา.. กล่าวบรรยายด้วยความเคารพ ร่วมหนึ่งชั่วโมงครึ่งอย่างไม่ขาดตอน บรรจุเต็มด้วยหลักธรรมที่ผู้พิพากษา โดยเฉพาะที่จะอาสาไปทำหน้าที่หัวหน้าศาลควรได้เรียนรู้ .. อย่างถูก .. จริง .. ตรง .. แท้ ว่านี่คือสัจธรรม !!

เจริญพร