ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ....

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ....

มีการอ้างเหตุผลของการร่างพ.ร.บ.นี้ว่า เพื่อกำหนดกลไกจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิดูแลประชาชน

ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน

 ซึ่งผู้เขียนคิดว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว ตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ ถึงภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ไม่จำเป็นจะต้องมายกร่างกฎหมายใหม่ เพื่อมอบหมายให้คณะกรรมการมาทำงานที่เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักภาระให้คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.นี้ทำแทนแล้ว ยังจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำงานซ้ำซ้อนกันและอาจทำให้งานของระบบสุขภาพปฐมภูมิด้อยคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากกรรมการ(ตามที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.นี้) มิได้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการจัดบริการระบบปฐมภูมิแต่อย่างใด

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีบริการสุขภาพ (หรือเรียกว่าบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข)ทั้ง 3 ระดับ คือระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิอยู่แล้ว กล่าวคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคือหน่วยสุขภาพปฐมภูมิ รพ.ชุมชนคือหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิและทุติยภูมิ โรงพยาบาลทั่วไปคือหน่วยบริการปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์(การแพทย์ = Hospital and Medical Center) เป็นหน่วยบริการสุขภาพครบ 3 ระดับคือปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

หมายเหตุ ขออธิบายสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุขหรือสุขภาพว่า

1.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ระบบที่ให้ความรู้และคำแนะนำ รวมทั้งให้บริการในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจสุขภาพ และรักษษผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ และอาจมีเตียงให้นอนพักสังเกตอาการป่วยได้ รวามทั้งไปเยี่ยมผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้าน และให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพหลังการเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง

2.ระบบสุขภาพทุติยภูมิ ได้แก่ระบบทั้งหมดของระบบปฐมภูมิ ร่วมกับมีการรักษาต่อยอดจากระบบปฐมภูมิคือให้การดูแลรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการป่วยมากจน ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้าน โดยไม่ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลรักษาพยาบาลตลอดเวลา เพราะอาจมีอาการทรุดหนักจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

3.ระบบสุขภาพตติยภูมิ เป็นระบบการดูแลรักษาสุขภาพที่รวมทั้งหมดของปฐมภูมิและตทุติยภูมิ และต่อยอดมาถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ และต้องการเครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีเฉพาะด้วย

จึงเห็นได้ว่าในระบบสุขภาพทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขนั้น  มีการจัดบริการสุขภาพทุกระดับ ตั้งแต่ระบบปฐมภูมิทุกหน่วยบริการ รวมทั้งให้บริการทุติยภูมิและตติยภูมิในแต่ละโรงพยาบาลดังกล่าวข้างต้น  และต่อยอดให้บริการสูงขึ้นตามลำดับ โดยประชาชนสามารถมารับการบริการได้ โดยไม่เลือกว่าเป็นหวัดธรรมดา ต้องไประบการรักษาจากหน่วยปฐมภูมิก่อน ประชาชนอยากจะไปรักษาหวัดที่โรงพยาบาลศูนย์ก็ไปได้เลย ซึ่งเป็นผลให้โรงพยาบาลศูนย์มีผู้ป่วยไปใช้บริการอย่างแน่นขนัด ทำให้ผู้ป่วยหนักมีอาการรุนแรง ต้องเสียเวลาในการรอคอยรับบริการ

เปรียบเทียบกับการบริการสุขภาพในประเทศอังกฤษ ที่ไทยไปลอกเลียนแบบระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมานั้น เขาจะมีระเบียบกำหนดให้ผู้ป่วย ต้องไปเริ่มต้นรับการรักษาจากหน่วยบริการปฐมภูมิก่อน ถ้ามีอาการมากสมควรจะต้องดั้บการรักษาจากหน่วยบริการทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ก็จะต้องมีแพทย์ทำจดหมายส่งตัวผู้ป่วยไปตามลำดับ และการไปพบแพทย์ก็ต้องไปตามนัดเท่านั้น ยกเว้นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้าลชแรงต่อสุขภาพ จึงจะมีสิทธิไปรับบริการจากหน่วยฉุกเฉินได้

ซึ่งการจัดระเบียบการใช้บริการสุขภาพเช่นนี้ จะช่วยลดปัญหาการใช้บริการซ้ำซ้อน และประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นของตนเอง และได้รับความสะดวกสบายในเวลาไปรับบริการสุขภาพ ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดกัน มีการเจ็บป่วยน้อยลง เพราะมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของตนเองและครอบครัวด้วย

การคิดพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมินั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรทำให้ถูกทาง คือการปฏิรูปโรงพยาบาลที่ทำงานเช่นนี้อยู่แล้ว ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีมาตรฐาน และประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว เพื่อทำให้ตนเองและครอบครัวสุขภาพดี ไม่ป่วยบ่อย และลดความจำเป็นในการมารับบริการสุขภาพลง จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วในการมารับบริการยิ่งขึ้น

แต่การเริ่มต้นปฏิรูประบบบริการสุขภาพ นอกจากจะต้องบริหารจัดการให้หน่วยบริการมีทรัพยากรที่จำเป็น (งบประมาณ บุคลากร เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยี เตียง ตึก ฯลฯ) สำหรับการให้บริการแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนว่า ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย ควรดูแลรักษาตนเองและคนในครอบครัวได้ ที่เรียกว่าการปฐมพยาบาล และการใช้ยาประจำบ้าน แต่ถ้าไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาก็ควรไปรับการดูแลรักษาจากหน่วยบริการใกล้บ้าน เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนหรือคลีนิกใกล้บ้าน และถ้าอาการป่วยไม่ทุเลา บุคลากรแพทย์ในระบบปฐมภูมิ ควรส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไป และถ้าอาการหนักเกินที่โรงพยาบาลทั่วไปจะเยียวยา บแพทย์ในรพ.ทั่วไปก็ควรที่จะเป็นผู้ส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการบริการรักษาในระดับโรงพยาบาลศูนย์หรือศักญภาพเฉพาะทางที่สูงกว่านั้น

แต่ในปัจจุบันนี้ ประชาชนที่จ็บป่วย ไม่ว่าอาการหนักหรือเบา ก็มีเสรีภาพในการที่จะไปรับบริการสุขภาพที่โรงพยาบาลไหนๆก็ได้ตามใจชอบ และอาจละเลยไม่ดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้าน  ไม่ไปรับการรักษายังหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิเช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือคลีนิกใกล้บ้าน แต่เริ่มไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปเป็นอันดับแรก  จนทำให้โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ มีสภาพผู้ป่วยแออัดยัดเยียดจนล้นแผนกตรวจผู้ป่วยนอก และในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยในก็มากจนล้นออกมานอนที่ระเบียงบ้างหน้าบันไดบ้าง ริมทางเดินบ้าง

ในขณะเดียวกัน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จ่ายงินแทนผู้ป่วยในระบบนี้ ก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “รักษาทุกโรค” แต่ไม่มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ได้รับสิทธิ์ว่า ควรต้องรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไร มีการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และไปตรวจรักษาตามขั้นตอนอย่างไร จึงอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจ็บป่วยและการไปรับบริการสุขภาพของประชาชนมีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนทำให้งบประมาณในการประกันสุขภาพ(จ่ายค่ารักษาความเจ็บป่วย)ของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนเป็นภาระเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล

ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าผู้ที่คิดจะให้มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ก็คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (ซึ่งมีบุคคลกลุ่มที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งเป็นกรรมการและบริหารสปสช.  ร่วมอยู่ด้วย) ซึ่งตอนแรกวางแผนให้มีการลงทะเบียนประชาชนกับหน่วยบริการสุขภาพเพื่อไปรับบริการประจำ แต่ไม่สามารถทำได้ตามที่วางแผน เพราะประชาชนมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เพื่อไปประกอบออาชีพต่างถิ่น เมื่อเจ็บป่วยก้ไม่สามารถได้รับสิทธิ์ในระบบ 30 บาทได้ ต่อมาจึงมีการแก้ไขให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับการรักษาตามสิทธิ์ 30 บาท ได้ทุกโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน

และการยกเลิกการการจ่ายเงิน 30 บาทก็เป็นสาเหตุเสริม ที่ทำให้ประชาชนไปใช้บริการสุขภาพมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด (เพราะไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินใดๆเลย) จึงทำให้กลุ่มผู้ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพ คิดวางแผน ที่จะกำหนดให้ประชาชนไปใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยตามลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากระบบปฐมภูมิดังกล่าว และให้ไปหาหมอประจำครอบครัวก่อน เพื่อลดภาระงบประมาณไม่ไห้ประชาชนข้ามขั้นตอนการไปรับบริการ

แต่การกำหนดเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องมาออกกฎหมายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ได้ให้ความคิดเห็นไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่สมดุลย์ของกรรมการจากฝ่ายรับบริการและฝ่ายให้บริการ เรื่องงบประมาณที่อาจจะมีปัญหา และเรื่องการไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของ(ผู้บริหาร) หน่วยบริการ จนอาจเป็นการผลักภาระไปให้แก่บุคลากรทางการแพทย์แทน(ผู้บริหาร)หน่วยบริการ(1) 

นอกจากนั้น การกำหนดให้มีคณะกรรมการเป็นจำนวนมากถึง 25 คน และให้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งอำนาจหน้าที่นี้ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระรวงสาธารณสุขและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขต้องรับผิดชอบ แต่กลับมายกร่างกฎหมายเพื่อเอาภาระหน้าที่นี้มามอบให้คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.

องค์ประกอบของกรรมการส่วนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพใดๆโดยทุกคนมีเสียงในการลงมติคนละ 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบการเขียนกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในการบริหาร จนทำให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการสุขภาพแห่ประชาชนเกิดภาวะทางการเงินที่ขาดสภาพคล่องสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย

ผู้เขียนวิตกว่าการเขียนกฎหมายให้ทำแบบเดิม แต่จะหวังผลให้ดีกว่าเดิม คงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ในมาตรา 13 ของร่างพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมินี้ ยังเป็นการลดอำนาจและศักดิ์ศรีของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ทำหน้าที่เป็นเพียงกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ ซึ่งปัจจุบัน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าและผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและพนักงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ที่ต้องคอยควบคุมบังคับบัญชาให้โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานสนองนโยบายของรัฐบาล ที่มอบผ่านมาจากครม.และรัฐมนตรี

แต่ตามร่างกม.ฉบับนี้ ปลัดกระทรวงต้องทำตามมติของคณะกรรมการเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และยังเป็นการทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมให้กระทรวงสาธารณสุขทำตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ด้วย

ผู้เขียนเกรงว่า น่าจะเกิดปัญหาแบบดียวกับพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขมี “ผู้สั่งการและบังคับบัญชา สองฝ่ายคือกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” คราวนี้จะมีผู้สั่งการเพิ่มจากคณะกรรมการบริการสุขภาพปฐมภูมิ และจากคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นจากเดิม ถ้าสนช.ยอมให้มีกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับนี้(2)

หัวหน้าคสช.ก็ได้ตระหนักรู้ว่ามีปัญหาจนมีการสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแก้ไขพ.รฬบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545  จนเกือบ 2 ปีแล้ว

แต่นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธารณสุขจะไม่สามารถแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นแล้ว ยังเห็นดีเห็นงามกับการร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ในรูปแบเหมือนกฎหมายที่มีปัญหา

ผู้เขียนคิดว่า ปัญหาจากกฎหมายเดิมที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และก็ยังแก้กฎหมายไม่ได้  หรือยังไม่ยอมแก้ แต่ก็ยังจะยกร่างกฎหมายแบบเดิมมาเพิ่มอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ น่าจะเกิดจากปัญหาความไม่รู้ ( Ignorant) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหม่มาทับถมกับปัญหาเดิม จนทำให้โรงพยาบาลต่างๆล้มละลายเร็วขึ้น เนื่องจากยกร่างให้เกิดกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มทรัพยากรในการรองรับการทำงานให้เพียงพอต่อภาระงาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยี แต่อย่างใด

ในร่างมาตรา 16 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีการขึ้นทะเบียนหน่วบริการ มาตรา 17 ให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนเพื่อเข้ารับบริการในเขตพื้นที่นั้น เพื่อที่จะได้รับสิทธิในการไปรับบริการสุขภาพปฐมภูมิ และขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการได้ตามความจำเป็น

การกำหนดเช่นนี้ เคยเขียนไว้ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่า เมื่อเจ็บป่วยต้องไปใช้สิทธิที่หน่วยปฐมภูมิก่อน และต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิ จึงจะไปรับการรักษาต่อที่หน่วยทุติยภูมิและตติยภูมิได้ตามลำดับ

เมื่อประชาชนไม่รับทราบและไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ประชาชนก็อาจไปหน่วยปฐมภูมิแล้ว “บีบบังคับ” ให้บุคลากรแพทย์ในหน่วยปฐมภูมิเขียนใบส่งต่อไปโดยปฏิเสธการรักษาจากหน่วยปฐมภูมิ ได้อีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการใช้สิทธิไปรับบริการของประชาชนตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ฉะนั้นการร่างกฎหมายระบบสุขภาพปฐมภูมิในแบบเดียวกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่น่าจะแก้ปัญหาความแออัดยัดเยียดในโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ได้ ตราบใดที่ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า สุขภาพของประชาชนนั้น ประชาชนเองต้องมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาตัวยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง และไปรับการบริการตามระเบียบและขั้นตอน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน และผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพมาตรฐาน

ไม่จำเป็นต้องไปยกร่างกฎหมายซ้ำรอยกฎหมายเดิม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตนเองให้เหมาะสม ครบถ้วน ตามระเบียบบริหาราชการแผ่นดินที่มีกฎหมายกำหนดไว้แล้ว ไม่ไปออกกฎหมายให้เกิดภาระงานซ้ำซ้อน ซ้ำซาก ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มพูนทบทวีมากขึ้นจากเดิม โดยผลักภาระให้คณะกรรมการและบุคลากรหน้างาน รับภาระไป โดยที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่บริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามหน้าที่ที่มีอยู่ แต่กลับจะสร้างปัญหาให้มากขึ้นไปอีกจากการยกร่างพ.ร.บ.ใหม่ทั้งพ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... ..(2)... และร่างพ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. .... (3) 

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644999
  2. http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1115-2017-08-08-02-54-41
  3. http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1131-2017-08-29-11-35-59