โดมิโนจากตุรกี

โดมิโนจากตุรกี

ความกังวลต่อสถานการณ์ในตุรกีทำให้ค่าเงินลีราร่วงลงมากถึง 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในวันเดียว และถ้านับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม

เงินลีราอ่อนค่ามากกว่า 45% ซึ่งเป็นการปะทุจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์สั่งให้เพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีขึ้นสองเท่า ทั้งนี้ เหล็กเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของตุรกี และปีที่แล้วตุรกีส่งออกไปสหรัฐฯ กว่า 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5.7% ของมูลค่าส่งออก

ความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางตุรกี (CBRT) ในการจัดการกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 15% สูงกว่าเป้าหมายที่ 5% อย่างมาก) เพราะถูกแทรกแซงจากประธานาธิบดีเออร์โดกัน ให้คงดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทนที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความเร็วของค่าเงินที่อ่อนค่าลง นอกจากนี้ การแต่งตั้งลูกเขยเข้าคุมกระทรวงการคลังยิ่งส่งผลลบต่อความโปร่งใสของประเทศอีกต่อหนึ่ง

หากย้อนกลับไป ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลกด้วย GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ย 7% ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 แต่ที่ผ่านมา ตุรกีโตด้วยการก่อหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 53% ของ GDP ในปี 2017 เทียบกับไทยที่ระดับ 35% เป็นเหตุให้นักลงทุนกลัวว่าค่าเงินลีราที่อ่อนลงอย่างรวดเร็วจะทำให้ภาระหนี้สกุลเงินต่างประเทศหนักขึ้น ต่างชาติเริ่มไม่เชื่อเครดิตลูกหนี้ตุรกี สังเกตได้จากอัตราส่วนการชำระหนี้ที่กู้จากต่างชาติที่ลดลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ ตัวช่วยที่จะสามารถพยุงค่าเงินได้ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็ถือว่าอ่อนแอมาก เพราะอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินค้านำเข้าได้เพียง 4 เดือน นอกจากนี้ ตุรกี ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงสุดของโลกที่ระดับ 6.7% ณ ไตรมาส 1 ปี 2018

การขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศดูเหมือนจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ เช่น กู้เงินจากพันธมิตรอย่างจีนและรัสเซีย หรือขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างไรก็ดี IMF จะเรียกร้องให้ตุรกีปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลตุรกีจะไม่ทำตาม รวมถึงสหรัฐฯ จะแทรกแซงไม่ให้ IMF เข้าช่วยเหลือตุรกี ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจตุรกีจะไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันใกล้ นั่นหมายถึงความผันผวนจะปกคลุมตลาดการเงิน ทั้ง หุ้น พันธบัตร และค่าเงิน ไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ขนาดของเศรษฐกิจ ตุรกีที่ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 คิดเป็นเพียง 1% ของขนาดเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลกระทบต่อโลกน่าจะจำกัด ไม่ลุกลามจนทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ประเทศที่คาดว่าจะได้รับกระทบจากปัญหาของตุรกี มีดังนี้

สเปน: ในบรรดาภาคธนาคารยุโรป ธนาคารสเปนเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติของตุรกีที่ใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 35% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ณ ไตรมาส 1 ปี 2018 หรือราวๆ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีค่าเท่ากับ 6% ของ GDP ปี 2017 ของสเปน ส่งผลให้โดยเฉลี่ยหุ้นธนาคารสเปนปรับตัวลงแรงกว่า 5% ภายใน 1 สัปดาห์

อินโดนีเซีย: การอ่อนค่าลงอย่างแรงของเงินลีรา ฉุดค่าเงินประเทศเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงเงินรูเปียของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลง 8.3% ตั้งแต่ต้นปี หากพิจารณาถึงระดับหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศของอินโดนีเซียที่ 35% ของ GDP การอ่อนค่าลงของรูเปีย อาจกดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยอีก หลังจากขึ้นมาแล้ว 1% ในปีนี้ ผลกระทบที่ตามมาคือต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและอาจจะชะลอการลงทุนในภาคเอกชนได้

เวียดนาม: ในภูมิภาคเอเชีย เวียดนามมีสัดส่วนส่งออกไปตุรกีสูงสุด คิดเป็น 1.2% ของ GDP ปี 2017 ของเวียดนามเอง อย่างไรก็ดี การส่งออกของเวียดนามโดยรวมยังแข็งแกร่ง ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ระดับ 4.1% ณ สิ้นปี 2017

สหรัฐฯ: การคว่ำบาตรตุรกีครั้งนี้ของประธานาธิบดีทรัมป์อาจส่งผลลบต่อสหรัฐฯ เอง เพราะการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ จะกดดันการแข่งขันของผู้ส่งออกจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ การปิดกั้นทางการค้าโดยเพิ่มภาษีนำเข้าไม่ว่าจากตุรกี หรือจีน ก็ดี จะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เร่งขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่เร็วขึ้นจะหมายถึงภาระหนี้ภาครัฐฯ ที่หนักขึ้น ท่ามกลางการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลของประธานาธิบดีทรัมป์เอง

จับตาตุรกี และประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะหนี้ในสกุลต่างชาติสูง