คุมกำเนิดห้างค้าปลีกใหม่ ในอินโดนีเซีย

คุมกำเนิดห้างค้าปลีกใหม่ ในอินโดนีเซีย

ไม่นานมานี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวการเบรกกฎหมายควบคุมค้าปลีกของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีสาระสำคัญว่า

ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายค้าปลีกเพื่อมาควบคุมร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจไม่ได้เกิดจากการผูกขาด แต่เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

โดยสาระสำคัญดังกล่าว มีที่มาจากผลการศึกษาวิจัยของทีดีอาร์ไอ ในโครงการศึกษาธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งพบว่า แนวโน้มการออกกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อ ‘ควบคุมห้างค้าปลีกสมัยใหม่’ มิให้ขยายตัว เพื่อ ‘คุ้มครองห้างค้าปลีกดั้งเดิม’ โดยเฉพาะร้านโชห่วย และเป็นไปได้ว่า ‘ห้างค้าปลีกสมัยใหม่’ ที่ผู้เสนอกฎหมายของไทยต้องการจะควบคุม คือ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ที่มีการเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน มากกว่ามุ่งควบคุมร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

จากข้อมูลของ Euromonitor ปีพ.ศ. 2559 รายได้ธุรกิจ ‘ค้าปลีกแบบดั้งเดิม’ ในไทยมีมูลค่า 511.2 พันล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 3% ของรายได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2559 ขณะที่รายได้ธุรกิจ ‘ร้านสะดวกซื้อมีมูลค่า 354.8 พันล้านบาท แม้น้อยกว่ารายได้รวมของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2559 สูงถึงร้อยละ 10.2 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเท่ากับร้อยละ 7.3 ในอีก 5 ปีข้างหน้า

คำถามคือ เราควรออกกฎหมายยับยั้งการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่หรือไม่ และผลกระทบจะเป็นอย่างไรต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศ ผู้เขียนจึงขอนำกรณีของประเทศอินโดนีเซียมาฉายภาพตัวอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแนวคิดการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในไทย

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกำกับควบคุมร้านสะดวกซื้อเข้มงวดมาก ข้อมูลของ Euromonitor พ.ศ. 2559 ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกโดยรวมถึงร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

การศึกษาพบว่า เป็นเพราะรสนิยมคนอินโดนีเซียที่ไว้วางใจร้านค้าแบบดั้งเดิมว่ามีสินค้าที่สดกว่าร้านค้าสมัยใหม่ แต่แม้รสนิยมของผู้ซื้อในประเทศจะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อร้านค้าดั้งเดิมแล้ว รัฐบาลก็ยังคงนโยบายและมาตรการจำกัดการขยายตัวของธุรกิจห้างค้าปลีกสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง

เช่น การจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติ การจำกัดพื้นที่ที่สามารถประกอบกิจการได้ การกำหนดเงื่อนไขการขยายสาขา และเงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้าที่วางจำหน่าย ทำให้ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในอินโดนีเซียไม่สามารถขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างกรณีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าปลีกมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีสาขาในจาการ์ตาให้ครบ 250 สาขา จึงจะขออนุญาตประกอบกิจการค้าปลีกได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการใหม่ไม่สามารถเปิดสาขาในภูมิภาคได้ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่นและแฟมิลี่มาร์ท ต้องใช้ใบอนุญาตร้านอาหารที่ได้รับจากกระทรวงการท่องเที่ยวแทนใบอนุญาตค้าปลีก

เซเว่นฯ ในอินโดนีเซียก่อนที่จะปิดตัวลง มีรูปแบบร้านค้าต่างจากประเทศอื่นๆ คือ มีร้านอาหาร มีที่นั่งรับประทานอาหาร นอกจากนี้แล้ว ยังมีกฎระเบียบว่าร้อยละ 80 ของหน่วยในการจัดเก็บสินค้า ( Stock Keeping Unit หรือ SKU) ต้องเป็นสินค้าท้องถิ่น ทำให้ความหลากหลายของสินค้ามีจำกัด และล่าสุดที่ทำให้ธุรกิจตัดสินใจปิดตัวลงมาจากกฎระเบียบที่ห้ามจำหน่ายสินค้าที่มีแอลกอฮอลล์ เนื่องจากเซเว่นฯ มีรายได้ประมาณร้อยละ 15 จากการจำหน่ายเบียร์ ซึ่งยังไม่รวมถึงรายได้จากสินค้าที่อาจทานคู่กับเบียร์

แม้กฎระเบียบที่เข้มงวดเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เซเว่นฯในอินโดนีเซียปิดตัวลงในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อของอินโดนีเซียไม่พัฒนาเท่าที่ควร

กฎ กติกาต่างๆ ทำให้ธุรกิจห้างค้าปลีกตกอยู่ในมือของห้างค้าปลีกในรูปแบบขนาดเล็ก (minimart) 2 ราย ได้แก่ Indomart และ Alfamart ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 89.7 ของตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (minimart) และร้านสะดวกซื้อ (convenient store) โดยแต่ละรายมีจำนวนสาขามากถึง 14,000 และ 11,000 สาขาตามลำดับ

ในขณะที่ เซเว่นฯที่ปิดตัวไปมีเพียง 160 สาขาหลังจากเปิดบริการมา 8 ปี และร้านแฟมิลี่มาร์ท จากญี่ปุ่นมีเพียง 80 สาขา การสะกัดกั้นห้างสะดวกซื้อจากต่างประเทศยิ่งตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของร้านค้ารายเดิมทั้งสองรายนี้

ในช่วงก่อน พ.ศ. 2552 ร้านสะดวกซื้อในอินโดนีเซียให้บริการขายสินค้าธรรมดา แต่การเข้ามาของเซเว่นฯได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวงการร้านสะดวกซื้อเป็นอย่างมาก เช่น เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และมีร้านอาหาร มีที่นั่งเล่น นั่งรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากเซเว่นฯในประเทศอื่นๆ ที่สำคัญยังเป็นผู้นำในเรื่อง Digital Payments Ecosystem ที่สุดท้ายแล้วคู่แข่งรายใหญ่ทั้งสองรายก็ได้นำรูปแบบบริการดังกล่าวไปปรับใช้ แต่เมื่อคู่แข่งรายเล็กได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ยักษ์ใหญ่รายเดิมยังจะมีแรงกดดันให้ปรับปรุงรูปแบบหรือคุณภาพในการให้บริการอยู่หรือ ?

กรณีของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่า รสนิยมของผู้บริโภคในประเทศเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของห้างค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดหรือรูปแบบใด ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถเสนอบริการที่ดีและต่างจากร้านค้าปลีกอื่นๆ ได้ ดังเช่นในกรณีของเซเว่นฯ ก็ต้องปิดตัวไป

แต่ที่สำคัญ คือ กฎ ระเบียบของรัฐควรเป็นกลาง ไม่ควรตัดแข้งตัดขาร้านค้าปลีกประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการส่งเสริมร้านค้าอีกประเภทโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และหากกฎมุ่งคุมกำเนิดห้างค้าปลีกที่ต้องการจะเปิดใหม่ กฎดังกล่าวก็จะลงโทษเฉพาะผู้เล่นรายใหม่ที่ยังไม่มีสาขาที่กระจายไปทั่วประเทศ

เช่น กรณี Alfamart หรือ Indomaret ในอินโดนีเซียที่มีกว่าหมื่นสาขาก่อนที่จะมีมาตรการคุมกำเนิดห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เช่นเดียวกับกรณีของไทย ถ้ามีรายใหญ่อยู่ในตลาดแล้ว การออกกฎหมายมาเพื่อคุมกำเนิดห้างค้าปลีกสมัยใหม่ แม้มีเจตนาที่ดี แต่อาจเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมาก็ได้

โดย... ศศิพงศ์ สุมา