ตุรกี “เรื่องเก่า เล่าใหม่”

ตุรกี “เรื่องเก่า เล่าใหม่”

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาวิกฤติการค่าเงิน “ลีรา” ของประเทศตุรกี ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี ได้กลับมาเป็นข่าวใหญ่กันอีกครั้ง

หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรเป็นสองเท่าในผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (ขึ้นเป็น 20%) และเหล็ก (ขึ้นเป็น 50%) ที่นำเข้าจากตุรกี

นัยว่าเพื่อเป็นการตอบโต้กรณีที่รัฐบาลตุรกีไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวงชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เหตุการณ์นี้ยิ่งเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้กับตุรกี โดยมีความวิตกกังวลกันว่าวิกฤติการค่าเงินและหนี้ต่างประเทศในครั้งนี้ อาจลามไปยังเจ้าหนี้ในกลุ่มประเทศยูโรโซนด้วย

ตุรกีนั้นจะเรียกว่าได้ว่าเป็นประเทศที่มีโชคร้ายในความโชคดีก็ว่าได้ ความโชคดี คือ มีดินแดนเชื่อมต่อระหว่างตะวันตก และตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในอดีต แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศในตะวันออกกลางที่ตุรกีมีดินแดนติดต่อด้วยนั้น คือ ซีเรีย อิรัก และอิหร่าน ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีข้อพิพาทกับโลกตะวันตกมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสงครามดุเดือดในซีเรีย ตุรกีก็กลายมาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นหนึ่งในคู่พิพาทกลายๆไปด้วย

หากย้อนกลับไปดู จะพบว่าตุรกีเคยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในปี 2544โดยจำเป็นต้องกู้เงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างไรก็ตาม ภายหลังการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง3ครั้งซ้อนในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน(ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน ถึงขนาดยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประธานาธิบดีได้) สามารถคืนหนี้ IMF ได้หมด และพลิกฟื้นเศรษฐกิจตุรกีให้เติบโตขึ้นถึง 8.5% ในปี 2556

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของตุรกีในขณะนั้น คือ การพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ ทำให้ตุรกีเป็นประเทศที่มีดุลการชำระเงินขาดดุลมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นเหตุให้เมื่อเกิดภาวะเงินทุนไหลออกฉับพลัน ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอก ก็จะส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างรวดเร็ว และยิ่งทำให้หนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ เมื่อแปลงเป็นเงินสกุลในประเทศ เพิ่มมากมายมหาศาลขึ้นไปอีก

นอกเหนือจากการพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมากแล้ว ตุรกียังมีอัตราเงินเฟ้อในระดับที่สูงมาก โดยในปี 2560 เฉลี่ยสูงถึง 11.41% ในขณะที่ค่าเงินที่อ่อนตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่ต้นปี ยิ่งกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา สูงถึง 15.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของตุรกี คือ การที่รัฐมนตรีคลังของตุรกี ให้ความเห็นว่า “พวกเราจะเห็นอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยลดลงในอนาคต” ซึ่งเป็น 2 สิ่งที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นได้พร้อมกัน ทำให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของตุรกี ไม่มีความเข้าใจถึงกลไกในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และค่าเงินแต่อย่างใด เห็นได้จากที่ผ่านมาธนาคารกลางของตุรกีไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเท่าที่ควร แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงมากมาโดยตลอด โดยธนาคารกลางเพิ่งจะปรับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับ 8% มาเป็นเวลานาน ขึ้นมาที่ 16.5% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง

แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่า ผลจากการที่ผู้กู้เงินในประเทศตุรกีอาจไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ทำให้ไม่สามารถคืนหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ จะกระทบกับธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปที่ปล่อยกู้ หรือถือหุ้นในสถาบันการเงินในตุรกี อย่าง BBVA ของสเปน UniCredit ของอิตาลี และ BNP Paribas ของฝรั่งเศสได้ แต่ก็ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในระดับวิกฤติ ซึ่งหากผู้ดำเนินนโยบายทางการเงินสามารถดึงความน่าเชื่อถือกลับมาได้ ก็น่าจะทำให้ความเสียหายเมื่อเทียบกับขนาดของธนาคารอยู่ในระดับจำกัด และไม่ถึงกับทำให้เกิดวิกฤติเชิงระบบได้