‘บิวตี้ ‘ ยังวิกฤตหนักรายได้ต่อสาขาลดฮวบเหลือ 1.73 %

‘บิวตี้ ‘ ยังวิกฤตหนักรายได้ต่อสาขาลดฮวบเหลือ 1.73 %

คอลัมนิสต์ คอมลัมน์ Stock gossip 

             จากมรสุมข่าวแง่ลบที่เกิดขึ้นกับบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY  ในช่วงต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมาได้กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในหุ้นบริษัทลดลงไปอย่างหนัก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นสูงสุดที่ 23.70  ( 3 เม.ย.)ลดฮวบลงมาอยู่ที่  6.80  (10 ส.ค.)หรือลดลงเกือบถึง 17 บาท   หรือ 71.30 %

            ‘บิวตี้’ เจอข่าวลบนับตั้งแต่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ‘นพ. สุวิน ไกรภูเบศ’ ได้ขายหุ้นที่ตนเองและภรรยาถืออยู่ออกมาเป็นครั้งที่ 2  จนลงมาเหลือสัดส่วนที่ 21.24 % จากเดิมถือหุ้นอยู่ที่ 70.83 %  ในช่วงเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นปี 2555

            นอกจากนี้มีปัญหาซัพพรายเออร์ และสินค้าที่จะนำไปขายที่จีนไม่ได้มาตรฐานทำให้ไม่ผ่านองค์กรอาหารและยาของจีน ส่งผลกระทบไปยังการประมาณการณ์กำไรในช่วงไตรมาส 2 ลดลง   จนลามไปถึงมีการตกแต่งบัญชีเพื่อผลักดันยอดขายที่สูงเกินจริง  และการที่ผู้บริหารขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่เพื่อทิ้งธุรกิจหลังเผชิญปัญหาสุขภาพป่วยหนักจนเป็นที่มาขายหุ้นออกไปถึง 2 ครั้ง

            ขณะที่โบรกเกอร์เมื่อเห็นสัญญาณยอดขายเริ่มส่ออาการไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ และอาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตลาดที่จีนยังมีปัญหา  จึงทำให้มีการประมาณการณ์กำไรใหม่และเป็นที่มาของการปรับเป้าราคาหุ้น BEAUTY ลดลงตามมา

            เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) บิวตี้ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ที่นักลงทุนหลายรายกำลังรอพิสูจณ์อนาคตว่าจะยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจด้านการเติบโตอยู่หรือไม่  แม้ว่าในงวดดังกล่าวบริษัทยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.15 บาท คิดเป็นมูลค่า 450.41 ล้านบาท   

            หากแต่รายได้อยู่ที่ 857.52 ล้านบาท ลดลง 3.36 % รายได้ที่ลดลง หลักๆ มาจากผลกระทบเรื่องของ สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน องค์กรอาหารและยา จากการปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายของบริษัทอื่นเมื่อช่วงเดือน มี.ค.–เม.ย. ที่ผ่ามมา ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเครื่องสำอางมากขึ้น

            นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้สินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศจีนมีความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้ามากขึ้น ทำให้ระยะเวลาในการนำเข้าสินค้าของลูกค้าที่ส่งไปมีระยะเวลายาวนานขึ้นตามไปด้วย  ส่งผลทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 549.34 ล้านบาท ลดลง 10.30 % และกำไรสุทธิอยู่ที่ 256.35 ล้านบาทลดลง 6.16 %

           ตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของนักลงทุนเนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้บริหารบิวตี้ ได้ชี้แจงวก่อนงบจะออกว่าช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ตัวเลขเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ยังคงยอดขายทั้งปี2561ไว้ที่ 4,290 ล้านบาท แต่ด้านกำไรมองว่าจะเติบโตไม่เกิน 20 %  จากปีก่อน

           หากมาดูรายละเอียดภายในงบยังมีความน่าวิตกว่าบิวตี้จะพลิกสถานการณ์ธุรกิจอย่างไร ด้วยงวดไตรมาส 2 ปี 2561 ปรากฎตัวเลขยอดขายต่อสาขาเดิม  (Same Store Sales : SSSG) ครึ่งปีแรกอยู่ที่  1.73 % เมื่อไล่ย้อนไปถือได้ว่าลดลงในสัดส่วนที่สูงมาก  ซึ่งเป็นการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 17.62 % และยังลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2561 ที่อยู่ที่  18.43 % !!!

           ขณะที่ด้านต้นทุนต่างบริษัทสามารถควบคุมได้ดีจนทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการขายลดลง 0.41 %  ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงในสัดส่วนที่สูงถึง 32% ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ   ส่งผลทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายรวม (SG&A) ลดลงได้ถึง 31.38 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

           เมื่อดูจากสาขาที่บิวตี้มีอยู่ในมือมากถึง 348 สาขา และส่วนใหญ่เป็นสาขาในประเทศ คือ ร้านบิวตี้ บุฟเฟ่ต์ 249 สาขา ซึ่งสามารถสะท้อนได้ว่าบิวตี้ ตอนนี้เผชิญปัญหายอดขายต่อสาขาที่ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย  หากจะคิดตามสูตรหลักบริหารมาจากสินค้าหรือบริการที่มีความต้องการน้อยลงในท้องตลาด  ซึ่งวิธีแก้ไขหนีไม่พ้นการออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด แต่หากไม่ประสบความสำเร็จต้องมองหาตลาดอื่นที่จะเข้ามาเพิ่มยอดขาย

           ดังนั้นตลาดต่างประเทศ อย่าง จีน จึงเหมือนกับตลาดขุมทรัพย์ใหม่ให้กับบิวตี้ผ่านการทำกลยุทธ์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายหน้าร้านจะเป็นโมเดลที่ทำให้บิวตี้กลับเติบโตอีกครั้งหรือไม่ดูยังเป็นความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนอยู่