วิกฤติค่าเงินของตุรกี: เมื่อการเมืองนำเศรษฐกิจ

วิกฤติค่าเงินของตุรกี: เมื่อการเมืองนำเศรษฐกิจ

ค่าเงินลีราของตุรกี เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันศุกร์ที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมานั้นได้ปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001

โดยมีสาเหตุมาจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตอบโต้ตุรกีภายหลังจากที่การเจรจากับคณะผู้มาเยือนของตุรกี ในเรื่องการปล่อยตัวชาวอเมริกันคือนาย Andrew Brunson ที่ถูกควบคุมกักบริเวณในข้อหาก่อการร้าย เมื่อปี 2016 ประสบความล้มเหลว โดยสหรัฐได้ใช้มาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่สหรัฐนำเข้าจากตุรกี ส่งผลให้ค่าเงินลีราปรับตัวลดลงทันทีถึง 9% และนักลงทุนจำนวนมากในตลาดต่างก็เกิดความหวั่นเกรงว่า ตุรกีอาจจะประสบปัญหาวิกฤตbทางการเงินได้ในไม่ช้า

นักวิเคราะห์ทางการเงินที่เกาะติดเรื่องนี้มาแต่ต้นได้ชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว ค่าเงินลีราของตุรกีได้เริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นค่าเงินที่ลดลงไปแล้วถึง 36% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการทยอยไหลออกของเงินดอลลาร์ อันเนื่องมาจากธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำที่เกิดจากการบิดเบือนของนโยบายการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลกับปัญหาหนี้ต่างประเทศของตุรกีจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ ที่สะสมมาจากการดำเนินนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะต้องการสร้างฐานคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับผู้นำรัฐบาลเป็นสำคัญ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อหวังผลทางการเมืองดังกล่าวได้ส่งผลให้ตุรกีต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรัง และมีปัญหาเงินเฟ้อเฉลี่ยที่สูงถึง 15% ต่อปีอีกด้วย ดังนั้น มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการซ้ำเติมจุดอ่อนหรือเปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจของตุรกีให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นต้นตอทั้งหมดของปัญหาเศรษฐกิจที่ตุรกีกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

แทนที่ผู้นำคณะรัฐบาลตุรกีชุดปัจจุบันจะได้แก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างรีบด่วน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดและควบคุมปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจให้เดินไปในทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นต้น แต่ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน กลับเลือกใช้วิธีทางการเมืองมาแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแทน เริ่มจากการปัดความรับผิดชอบของตนในเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ด้วยการโยนให้เป็นความผิดของผู้ไม่หวังดีจากต่างประเทศ หรือแม้แต่การเรียกร้องให้ประชาชนในประเทศช่วยกันเสียสละนำเงินตราต่างประเทศและทองคำที่ประชาชนมีอยู่มาแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นที่กำลังเสื่อมค่าลงแทน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยพยุงค่าเงินของตุรกีเอาไว้

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง จึงทำให้ค่าเงินลีรายังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาจนถึงวันจันทร์ที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารกลางตุรกีจะได้ออกมายืนยันว่า จะมีมาตรการที่จำเป็นและทันท่วงทีเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้แล้วก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ แม้ค่าเงินลีราจะได้เริ่มทรงตัวอยู่ได้ซึ่งเป็นผลจากการคลายความกังวลของนักลงทุนในตลาดต่างๆ เมื่อรัฐมนตรีคลังของตุรกีประกาศว่าจะปกป้องค่าเงินลีราไว้ที่ระดับ 6.5 ลีราต่อดอลลาร์ และประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประกาศกร้าวว่า จะออกมาตรการบอยคอตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐเพื่อเป็นการตอบโต้เอาคืน

คำถามที่สำคัญก็คือว่า วิกฤตค่าเงินของตุรกีจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจยุโรปในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของตุรกีและต่อเศรษฐกิจทั่วโลกต่อไปหรือไม่ คำตอบในตอนนี้ ก็น่าจะฟันธงได้ว่า ยังมีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะของตุรกีเองเท่านั้น นอกจากนี้แล้วประเทศตุรกีก็ยังตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก ตุรกีเป็นสมาชิกขององค์การนาโต ตั้งแต่ปี 1952 และมีความพยายามจะขอเข้าเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู)ด้วย ทั้งนี้ สหรัฐและยุโรปต่างก็เห็นความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องดึงตุรกีไว้เป็นพวกของตน แทนที่จะปล่อยให้ไปเข้ากับฝ่ายรัสเซีย และแม้ว่าที่ผ่านมา มหาอำนาจตะวันตกจะไม่ค่อยพอใจต่อท่าทีของตุรกีเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือจัดการปัญหาเรื่องซีเรีย หรือเรื่องที่ตุรกีปล่อยให้มีผู้อพยพผ่านเข้าไปในสหภาพยุโรปจำนวนมากก็ตาม ทั้งสหรัฐและยุโรปต่างก็คงไม่กล้าปล่อยให้ปัญหาวิกฤติการค่าเงินลีรานั้นขยายตัวเลวร้ายไปจนถึงขั้นที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม และภาคการเงินการธนาคารของตุรกีต้องพังทลายไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่ยื่นมือเข้าแทรกแซงช่วยเหลือแน่นอน เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายไปจนถึงขั้นนั้นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการจลาจลวุ่นวายในประเทศจนทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจกันภายในตุรกีไปสู่กลุ่มอำนาจที่นิยมฝ่ายรัสเซียได้ในที่สุด ซึ่งคงเป็นเรื่องที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้นแน่นอน

ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เองก็น่าจะเข้าใจความจริงเกี่ยวกับข้อจำกัดของมหาอำนาจตะวันตกในข้อนี้เป็นอย่างดี เขาจึงยังคงกล้าแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวในการท้าทายต่ออำนาจของชาติตะวันตกอย่างสหรัฐได้ต่อไป ในขณะเดียวกันเขาก็ได้พยายามปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศว่าทุกคนต่างก็มีศัตรูร่วมกันคือ มหาอำนาจชาติตะวันตกที่ต้องการจะทำลายเศรษฐกิจของตุรกี ด้วยหวังว่าเขาจะสามารถใช้พลังมวลชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นเกราะกำบังเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของเขาและพวกไว้ได้ต่อไป ด้วยมุมมองเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน จะยังคงเลือกใช้วิธีทางการเมืองเพื่อนำการเศรษฐกิจ ในการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตการค่าเงินที่ตุรกีกำลังเผชิญอยู่

และอันที่จริงแล้ว หากมองจากกรอบวิเคราะห์ตามทฤษฎีเกมแล้ว ทั้งประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี และประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างก็กำลังใช้เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เสมือนหนึ่งเป็นการดำเนินกลยุทธ์ตามอำนาจการต่อรองของตนกับอีกฝ่าย เพื่อให้ตนได้ผลลัพธ์และประโยชน์ที่คาดหวังไว้ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง