P2P Lending นวัตกรรมการเงินสู่ชุมชน

P2P Lending นวัตกรรมการเงินสู่ชุมชน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในแวดวงของ Fintech ได้กล่าวถึง P2P Lending อย่างกว้างขวาง

ทั้งยังถกเถียงกันด้วยว่า P2P Lending อาจเป็นทางออกหนึ่ง ของการเข้าถึงแหล่งทุนในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งในเชิงโครงสร้าง ที่เกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาช้านานแล้ว

P2P Lending คือการกู้ยืมเงินโดยปราศจากตัวกลาง ในกรณีทั่วไปแล้ว ตัวกลางก็คือธนาคารนั่นเอง

P2P Lending ในปัจจุบัน อาศัยช่องทางของดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นตลาดเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ที่ต้องการจะกู้ และผู้ที่ต้องการจะปล่อยกู้ โดยเปรียบเสมือนเป็นตลาดนัดอีคอมเมิร์ชของการกู้เงิน เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย สามารถพบเจอ และทำธุรกรรมกันเอง ภายใต้กรอบกติกาของระบบ

ข้อดีของ P2P Lending คือ ผู้ที่ต้องการจะปล่อยกู้ มีโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร และผู้ที่ต้องการจะกู้ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยไม่ต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดของธนาคาร

ส่วนข้อเสียของ P2P Lending คือ ผู้ที่ต้องการจะปล่อยกู้ ต้องมีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในการที่ต้องทำธุรกรรมกับผู้ที่ต้องการจะกู้โดยตรง

ข้อดีอีกประการหนึ่งของ P2P Lending คือการมีมาตรฐานและความโปร่งใสที่สูงกว่าการกู้นอกระบบ และในขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ P2P Lending

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสัมผัสโดยตรงกับชุมชนในระดับรากหญ้าของประเทศ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน

ชาวบ้านในระดับรากหญ้า ขาดหลักประกันที่จะไปกู้เงินจากธนาคาร ทางออกในอดีต คือการกู้เงินจากเถ้าแก่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชุมชน

แม้การกู้เงินจากเถ้าแก่ จะเป็นทางออกของชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคารได้ แต่ชาวบ้าน ก็ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อกู้เงินจากเถ้าแก่ และในบางครั้ง ก็ต้องเผชิญกับข้อผ​ูกมัดในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น ผลผลิตของชาวบ้าน อาจมีสัญญาใจ ที่ต้องขายให้กับเถ้าแก่ ในราคาที่เถ้าแก่กำหนดเท่านั้น ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาของตลาด และไม่สามารถขายให้กับผู้อื่นได้

ยกตัวอย่างเช่น ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องการซื้อเรือลำใหม่ แต่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ จึงไปกู้เงินจากเถ้าแก่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในชุมชน ในดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคาร นอกจากนี้ เมื่อชาวประมงจับปลาด้วยเรือลำนี้มาแล้ว อาจมีสัญญาใจ ที่ทำให้ต้องขายผลผลิตทั้งหมดให้กับเถ้าแก่คนนี้เท่านั้น ซึ่งหากชาวประมงสามารถนำปลาไปขายเองได้ที่ตลาด ก็จะได้ราคาที่ดีกว่าเถ้าแก่กำหนด แต่กลับไม่สามารถทำได้

ในชุมชนระดับรากหญ้า เถ้าแก่จึงเป็นทั้ง ผู้ปล่อยกู้ ผู้รวบรวม และ ผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในชุมชน

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านหลายคนร​ู้สึกพึงพอใจในระบบเถ้าแก่ เพราะเมื่อครอบครัวประสบภัยภิบัติ มักสามารถขอความช่วยเหลือจากเถ้าแก่ได้

ในขณะที่ ทางออกในอดีต คือการกู้เงินจากเถ้าแก่ ทางออกในปัจจุบัน คือการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งของชาวบ้านในระดับรากหญ้าด้วยการมีส่วนร่วม ในรูปแบบของ สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกระทั่ง สัจจะออมทรัพย์ ที่ชาวบ้านลงขันกันเอง ปล่อยกู้กันเอง และทวงหนี้กันเอง ซึ่งในบางครั้ง ชาวบ้านยังเป็นผู้รวบรวมเอง เพื่อเป็นอีกทางเหลือหนึ่งให้กับสังคมในระดับรากหญ้า

ที่น่าสนใจ คือสัจจะออมทรัพย์ ที่บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มักมีหนี้เสียที่ต่ำกว่าธนาคารพานิชย์ เพราะแรงกดดันกันเองของสังคมในระดับชุมชน และยังมีสวัสดิการให้กับสมาชิก เมื่อครอบครัวประสบภัยภิบัติ ในหลายมุมมอง สัจจะออมทรัพย์ยังเป็นทางออกที่ยังยืน ให้กับสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ สัจจะออมทรัพย์ ในประเทศไทย แม้เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มาจากยุคดิจิทัล จึงยังมีโอกาสอีกมาก ที่จะเข้าไปพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

P2P Lending หากจะเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงแหล่งทุน และการอยู่ร่วมกับความเหลื่อมล้ำ จนเกิดเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีอยู่ในชุมชนของประเทศมาช้านานแล้ว